แคปซูลบรรทุกนักบิน "ดรากอน" (Crew Dragon Capsule) ของนาซา-สเปซเอ็กซ์นำดักลาส เฮอร์ลีย์ และโรเบิร์ต เบห์นเคน นักบินอวกาศสหรัฐฯ เดินทางกลับสู่โลกอย่างปลอดภัย โดยลงจอดในอ่าวเม็กซิโกนอกชายฝั่งรัฐฟลอริดา ช่วงบ่ายวานนี้ (2 ส.ค.) ตามเวลาสหรัฐฯ
การกลับสู่โลกของนักบินอวกาศทั้งสองคนนับเป็นความสำเร็จของสหรัฐฯ ในการส่งคนไปปฏิบัติภารกิจในห้วงอวกาศได้ด้วยตนเองเป็นครั้งแรกในรอบเกือบหนึ่งทศวรรษ หลังจากสหรัฐฯ ยุติการใช้งานยานขนส่งอวกาศแอตแลนติสไปเมื่อปี 2011 และต้องใช้ยานโซยุซของรัสเซียในการขนส่งนักบินอวกาศแทน
ภารกิจการเดินทางสู่สถานีอวกาศนานาชาติในครั้งนี้ชื่อว่า Demo-2 โดยจรวดฟอลคอน 9 ของสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ซึ่งใช้นำส่งยานดรากอน ถูกปล่อยจากฐานที่ศูนย์อวกาศเคนเนดีในรัฐฟลอริดา นำเฮอร์ลี วัย 53 ปี และเบห์นเคน วัย 49 ปี ออกเดินทางสู่อวกาศเมื่อวันที่ 30 พ.ค.ตามเวลาสหรัฐฯ
เฮอร์ลีย์และเบห์นเคนนับเป็นนักบินอวกาศสองคนแรกของสหรัฐฯ ที่กลับสู่โลกด้วยการจอดยานบรรทุกนักบินอวกาสในน้ำในรอบ 45 ปี ต่อจากยานบรรทุกนักบินซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอะพอลโลลงจอดในมหาสมุทรแปซิฟิกหลังจากเดินทางไปพบกับยานโซยุซของรัสเซียในอวกาศในเดือน ก.ค. 1975
นักบินอวกาศทั้งสองพร้อมด้วยยานดรากอนลงจอดกลางทะเลในอ่าวเม็กซิโกเมื่อเวลา 14.48 น. ตามเวลาท้องถิ่นหรือ หรือ 01.48 น. ของวันที่ 3 ส.ค. ตามเวลาไทย
"เรารู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้" นักบินอวกาศเฮอร์ลีย์กล่าวหลังจากกลับสู่โลก
"ในนามของสเปซเอ็กซ์และนาซา ยินดีต้อนรับกลับสู่ดาวโลก ขอบคุณที่ใช้บริการสเปซเอ็กซ์" เจ้าหน้าที่ประจำฐานปฏิบัติการสเปซเอ็กซ์กล่าวตอบ
ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประธานในการส่งยานดรากอนสู่อวกาศเมื่อเดือน พ.ค. ทวีตข้อความว่า "ขอบคุณทุกคน! เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่นักบินอวกาศนาซาเดินทางกลับสู่โลกแล้วหลังจากประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการปฏิบัติภารกิจนานสองเดือน"
ทีมงานภาคพื้นของนาซา-สเปซเอ็กซ์เตรียมการอย่างดีเพื่อต้อนรับการกลับสู่โลกของนักบินอวกาศและยานดรากอน กองเรือเก็บกู้เข้าประจำการอยู่ห่างจากชายฝั่งในเมืองเพนซาโคลาและปานามาซิตี้ทางฝั่งตะวันตกของฟลอริดา เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสภาพอากาศและคลื่นลมอย่างใกล้ชิดก่อนจะส่งสัญญาณให้นักบินอวกาศเฮอร์ลีย์และเบห์นเคนนำยานดรากอนกลับสู่โลก พวกเขาเลือกจุดที่ปลอดภัยจากเฮอร์ริเคนอิซาอิอาสซึ่งกำลังเคลื่อนตัวมุ่งไปทางชายฝั่งด้านตะวันออกของรัฐฟลอริดา
เมื่อได้รับสัญญาณให้กลับสู่โลก นักบินอวกาศทั้งสองก็ติดเครื่องยนต์ขับดันเพื่อออกจากวงโคจร จากนั้นยานดรากอนก็เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงหลายกิโลเมตรต่อวินาทีและเผชิญความร้อนถึง 2,000 องศาเซลเซียสขณะผ่านชั้นบรรยากาศ และตกลงจุดที่กำหนดไว้
เมื่อเข้าสู่โลก ร่มชูชีพ 2 ชุดถูกปล่อยออกมาเพื่อชะลอความเร็ว ชุดแรกเป็นชูชีพเล็กซึ่งจะปล่อยออกมาขณะยานอยู่ที่ความสูง 5,500 เมตรและเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 560 กม./ชม. และชูชีพชุดที่สองจะกางออกที่ระดับความสูง 1,800 เมตร เพื่อช่วยให้ยานลงจอดในทะเลได้อย่างนุ่มนวล
แคปซูลบรรทุกนักบินอวกาศดรากอน เป็นผลงานการออกแบบและสร้างขึ้นโดยสเปซเอ็กซ์ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่นาซามอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินโครงการนี้ ถือเป็นความร่วมมือทางธุรกิจและเทคโนโลยีที่ช่วยให้นาซาประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่าย และเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาบุกเบิกธุรกิจด้านอวกาศได้มากขึ้น
การกลับสู่โลกอย่างปลอดภัยของนักบินอวกาศและยานดรากอนเป็นการพิสูจน์ความสำเร็จของบริษัทสเปซเอ็กซ์ของอีลอน มัสก์ ในการให้ "บริการแท็กซี่" นำพามนุษย์เดินทางสู่อวกาศ และหลังจากนี้คาดว่าบริษัทก็จะทำธุรกิจกับนาซาต่อไป
August 02, 2020 at 06:41PM
https://ift.tt/33jfo2D
นาซา-สเปซเอ็กซ์: แคปซูลบรรทุกนักบินอวกาศ "ดรากอน" เตรียมลงจอดในทะเลฟลอริดา - บีบีซีไทย
https://ift.tt/2TVOisZ
Home To Blog
No comments:
Post a Comment