แบงก์พาณิชย์แข่งขันออกโปรโมชันสินเชื่อบุคคล 60 เดือน รีไฟแนนซ์บ้าน-บ้านแลกเงิน กดดอกเบี้ยต่ำล่อใจ ตรวจสอบพบเงื่อนไขดอกเบี้ยต่ำให้เฉพาะบางกรณี ให้ช่วงไหน กี่เดือน ส่วนรีไฟแนนซ์บ้าน แนะดูดอกเบี้ยตลอดสัญญา บ้านแลกเงินหากผ่อนไม่ไหวมีสิทธิโดนยึด นักการเงินแนะศึกษาเงื่อนไขอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจ
ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้คนจำนวนมากประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน รายได้หดหายไป รวมจนถึงพนักงานเอกชนที่ต้องพ้นสภาพการทำงาน อันเนื่องมาจากธุรกิจเดินหน้าต่อไปไม่ไหว การประคับประคองชีวิตให้อยู่รอดต่อไปได้ จำเป็นต้องมีเงินมาเข้ามาหมุนเวียนใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพ ใครที่มีเงินเก็บออมก็ต้องนำมาใช้จ่ายเพื่อต่อชีวิต ใครที่มีภาระหนี้สินอยู่ก็ต้องหาทางแก้ไข
แม้ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเข้ามาเป็นเจ้าภาพในการช่วยเหลือลูกหนี้ ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อส่วนบุคคลแต่ละประเภทลงมาราว 2-4% เพื่อลดภาระให้แก่ภาคประชาชน โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิตได้เปิดช่องทางการโอนย้ายหนี้ไปเป็นสินเชื่อระยะยาว 48 เดือน คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 12% ต่ำกว่าดอกเบี้ยในสัญญาเดิม
กระทั่งถึงการเปิดทางให้ลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ต่อไปได้ เข้ามาเจรจาหาทางออกในคลินิกแก้หนี้ ยืดระยะเวลาผ่อนชำระให้ถึง 10 ปี ดอกเบี้ยต่ำ 4-7% และลดดอกเบี้ยล่อใจให้อีก 2% และให้สถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้ยึดแนวทางเดียวกับคลินิกแก้หนี้
ออกโปรฯ “ดอกต่ำ” เรียกลูกค้า
ขณะที่ในตลาดสินเชื่อ สถาบันการเงินหลายแห่งต่างแข่งขันกันออกโปรโมชันล่อใจ ด้วยสินเชื่อบุคคลผ่อนชำระยาว 60 เดือน เสนออัตราดอกเบี้ยต่ำ เช่น 7.99% หรือ 9.99% เป็นต้น
หากมองตัวเลขเผินๆ น่าจะเป็นทางออกที่น่าสนใจให้แก่ผู้คนที่เดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 ได้เป็นอย่างดี เพราะดอกเบี้ยต่ำกว่ามาตรการช่วยเหลือของแบงก์ชาติ แถมผ่อนได้นานกว่า 48 เดือน ซึ่งจะช่วยให้ยอดของการผ่อนชำระต่อเดือนต่ำลง ลูกหนี้มีเงินเหลือมากขึ้นในการใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพ
เมื่อตรวจสอบโปรโมชันดังกล่าว พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการเปิดรับลูกค้ารายใหม่เข้าสู่สินเชื่อบุคคลที่เปิดให้ผ่อนชำระได้นานถึง 60 เดือน แม้บางรายจะเปิดรับรีไฟแนนซ์สินเชื่อ แต่ดอกเบี้ยโดยรวมยังสูงกว่าในโครงการของธนาคารแห่งประเทศไทย
ไม่ใช่ได้ทุกคน-มีเงื่อนไข
นักวิชาการด้านการเงิน กล่าวว่า สถาบันการเงินที่ต้องการหาลูกค้าใหม่เข้ามาใช้บริการสินเชื่อของตนเอง ต้องทำการตลาดด้วยการออกโปรโมชันล่อใจ แน่นอนว่าตัวเลขอัตราดอกเบี้ยต่ำจะเป็นตัวดึงดูดให้ลูกค้าสนใจจนต้องเข้ามาสอบถามข้อมูล
“ตัวเลขอัตราดอกเบี้ยต่ำๆ ที่เห็นนั้นมักเป็นตัวเลขเรียกลูกค้าได้ผลทุกครั้ง แต่ไม่ใช่ว่าทุกรายจะได้ดอกเบี้ยต่ำอย่างที่แจ้งไว้เสมอไป ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่สถาบันการเงินผู้ออกสินเชื่อกำหนด”
อย่างกรณีดอกเบี้ย 7.99% ผ่อนนาน 60 เดือน วงเงินอนุมัติ 150,000 บาท เมื่อเข้าไปดูรายละเอียดของเงื่อนไข พบว่า สถาบันการเงินจะให้ลูกค้าเลือกว่าต้องการผ่อนชำระ 24, 36, 48 หรือ 60 เดือน เงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ 7.99% นั้นจะมอบให้แก่ลูกค้าในช่วงครึ่งหลังของสัญญา เช่น 12, 18, 24 หรือ 30 เดือนหลัง แต่ในช่วงครึ่งแรกของสัญญากู้จะคิดดอกเบี้ยที่ 25.99% ในทุกสัญญา เฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ 16.99%
ขณะที่บางค่ายเสนอโปรแกรมปิดยอดรวมหนี้ ดอกเบี้ยต่ำสุด 9.99% ช่วง 2 เดือนแรก แจ้งว่าผ่อนสบายๆ แสนละ 2,900 บาทต่อเดือน วงเงินสูงสุด 5 เท่าของเงินเดือนหรือ 1.5 ล้านบาท
จากการสอบถามพบว่า ตัวเลขอัตราดอกเบี้ยที่ 9.99% นั้น ผู้ที่จะได้สิทธินี้จะต้องมีรายได้ 150,000 บาทขึ้นไป แต่จะเป็นแค่ช่วง 2 เดือนแรกเท่านั้น หากรายได้อยู่ที่ 3-4 หมื่นบาทต่อเดือน อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 24.99% ทั้งหมดเป็นไปตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด
สถาบันการเงินอีกรายที่เสนอดอกเบี้ย 9.99% เช่นกัน แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเฉพาะลูกค้าที่รับเงินเดือนผ่านบัญชีของธนาคาร
นอกเหนือจากสินเชื่อบุคคลแล้วสถาบันการเงินยังออกโปรโมชันรับรีไฟแนนซ์บ้านที่ดอกเบี้ย 0.5% ในปีแรก และมีสินเชื่อบ้านแลกเงินผ่อนระยะยาวให้แก่ลูกค้าที่สนใจได้เลือกอีกเช่นกัน
สำรวจความพร้อมตัวเองก่อน
นักบริหารเงินรายหนึ่งให้คำแนะนำวิธีการเลือกข้อเสนอต่างๆ ของสถาบันการเงินที่ออกมาในช่วงเวลานี้ว่า ประการแรกต้องประมาณการค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของตัวเองและครอบครัวออกมาให้ชัดเจนก่อน
จากนั้นสำรวจภาระหนี้สินที่มีอยู่ว่ามีอะไรบ้าง แต่ละประเภทต้องแบกภาระดอกเบี้ยเท่าไหร่ จำนวนเงินที่ต้องผ่อนต่อเดือน ควบคู่กับพิจารณารายรับที่มีอยู่ในเวลานี้ และควรเผื่อสถานการณ์ด้านรายได้ในอนาคตด้วย
จากนั้นเริ่มสำรวจข้อเสนอต่างๆ ของสถาบันการเงินทั้งที่เดิมและโปรโมชันใหม่ของสถาบันการเงินอื่น เปรียบเทียบเงื่อนไขและภาระที่ต้องรับผิดชอบในการชำระ
ในบางครั้งอาจต้องยอมเสียดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นบ้าง แลกกับการยืดระยะเวลาในการชำระหนี้ออกไป เพื่อประคองตัวให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปก่อน เมื่อทุกอย่างกลับมาสู่สภาวะที่ดีขึ้นหรือมีกำลังในการชำระหนี้มากขึ้นก็สามารถที่จะเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่ให้มากกว่าเดิม
โปรโมชันของสถาบันการเงินที่ออกมาในเวลานี้ ควรสำรวจจากหลายๆ ที่ และเข้าไปศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่ำตามคำโฆษณานั้นมักจะมีเงื่อนไขอยู่เสมอ เช่น ให้ดอกเบี้ยต่ำกี่เดือน คุณสมบัติของเราอยู่ในเงื่อนไขที่แบงก์กำหนดไว้หรือไม่ ทางเลือกในแต่ละรูปแบบนั้นเป็นอย่างไร อันไหนคุ้มค่าและเหมาะที่สุดสำหรับตัวเรา
ออมสิน 0.35% ผ่อน 3 ปี
เท่าที่เห็นขณะนี้จะมี 3 รูปแบบคือ สินเชื่อบุคคล 60 เดือน ซึ่งผู้ขอใช้บริการเลือกได้ว่าต้องการระยะเวลาที่เท่าไหร่ตามความสามารถในการชำระของเรา พิจารณาวงเงินด้วยว่าต้องการใช้จ่ายที่เท่าไหร่ เนื่องจากวงเงินและระยะเวลาในการผ่อนชำระจะมีผลต่อตัวอัตราดอกเบี้ย วงเงินไม่สูงแต่เลือกผ่อนชำระนานดอกเบี้ยก็อาจจะสูงกว่าวงเงินสูงแต่ผ่อนชำระสั้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินที่จะเป็นผู้ประเมินความเสี่ยง
หากต้องการไม่สูงนักที่ไม่เกิน 5 หมื่นบาท มีที่น่าสนใจคือ สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (Covid-19) สำหรับผู้มีรายได้ประจำ จากธนาคารธนาคารออมสิน ที่คิดดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน ผ่อนชำระนานถึง 3 ปี แต่ต้องมีบุคคลหรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน
เนื่องจากเป็นธนาคารของรัฐและจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาจาก Covid-19 และได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทยจึงสามารถคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำได้อยู่ที่ 4.2% ต่อปีเท่านั้น ถือว่าต่ำกว่าดอกเบี้ยของสถาบันการเงินเอกชนเป็นอย่างมาก
สินเชื่อตัวนี้เคยออกมาในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้รับความสนใจอย่างมากจนเต็มวงเงิน 2 หมื่นล้านบาทอย่างรวดเร็ว และเริ่มโครงการรอบ 2 ตั้งแต่ 4 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป
รีไฟแนนซ์บ้านคิดให้เยอะ
สำหรับคนที่มีภาระผ่อนบ้านหนี้ก้อนหนี้ถือเป็นหนี้ระยะยาวและวงเงินกู้ค่อนข้างสูง ตอนนี้มีสถาบันการเงินหลายแห่งเปิดรับรีไฟแนนซ์ เช่นดอกเบี้ย 0.5% ปีแรก หรือรีไฟแนนซ์บ้านดอกเบี้ย 1.99% ใน 2 ปีแรก
การรีไฟแนนซ์บ้านมักจะมีสัญญาในหลากหลายแบบให้เลือก ดังนั้น จะต้องพิจารณาให้ดี เพราะดอกเบี้ย MRR ที่ใช้เป็นดอกเบี้ยหลักในการคำนวณของแต่ละธนาคารจะไม่เท่ากัน รวมถึงส่วนลดของดอกเบี้ย (MRR-x.xx%) ว่าเป็นเท่าไหร่ แนะนำให้ดูอัตราดอกเบี้ยถัวเฉลี่ยทั้งสัญญาแล้วนำไปเปรียบเทียบกับค่ายอื่น
ตามหลักการแล้วการรีไฟแนนซ์จะต้องได้ดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเดิม เพื่อให้ยอดผ่อนชำระต่อเดือนลดลง หรือบางรายอาจต้องการประคองตัวให้ผ่านสถานการณ์นี้ไปก่อน อาจเลือกขยายสัญญากู้ออกไป หาแบงก์ที่คิดคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำในช่วงแรกๆ
ทั้งนี้ ควรสอบถามเรื่องค่าประเมินและค่าธรรมเนียมรวมถึงค่าประกันต่างๆ ให้ครบถ้วนก่อนค่อยตัดสินใจ
บ้านแลกเงินดอกต่ำกว่า
อีกรูปแบบหนึ่งที่เป็นทางเลือกคือสินเชื่อบ้านแลกเงิน ด้วยการใช้บ้านมาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ ดอกเบี้ยเท่าที่เห็นอยู่ที่ 4.99% ช่วง 3 ปีแรก วิธีการนี้จะได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อบุคคล เนื่องจากสถาบันการเงินจะใช้บ้านเป็นหลักประกัน บางแห่งเปิดให้ผ่อนได้นานถึง 30 ปี แต่ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่าหลังจากพ้น 3 ปีไปแล้วดอกเบี้ยจะเป็นเท่าไหร่
นอกจากนี้ ผู้ขอสินเชื่อต้องทราบด้วยว่าการนำเอาบ้านเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ หากท่านผิดนัดชำระและไม่สามารถชำระหนี้ทั้งหมดได้ บ้านของท่านอาจต้องเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ไปเป็นของสถาบันการเงิน
นักบริหารเงินกล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ปัญหาหนี้สินของแต่ละรายไม่เหมือนกัน เนื่องจากเงื่อนไขและความจำเป็นในการดำรงชีวิตต่างกัน คนที่ทำงานในหน่วยงานที่มีความมั่นคง ย่อมไม่ต้องมาปวดหัวกับเรื่องดังกล่าว แต่คนที่มีความเสี่ยงต้องเตรียมหาทางรับมือกับภาระที่จะตามมา การหาทางเพิ่มเงินในกระเป๋าด้วยวิธีการลดภาระหนี้ นับว่าเป็นสิ่งจำเป็น
ควรเริ่มต้นที่การพูดคุยหรือหาทางออกร่วมกับสถาบันการเงินเดิมที่ท่านทำสัญญาเป็นลำดับแรก หรือใช้สิทธิตามโครงการช่วยเหลือที่ธนาคารแห่งประเทศไทยทำข้อตกลงร่วมกับสถาบันการเงินไว้ ตามรูปแบบความช่วยเหลือที่เสนอไว้ให้ หากทำให้เงินไม่พอใช้จ่ายต่อการดำรงชีพค่อยหาแนวทางอื่นตามที่สถาบันการเงินอื่นเสนอมาพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจ
August 15, 2020 at 04:30PM
https://ift.tt/2E6sFBc
แบงก์เปิดศึกชิงลูกค้าดึงเทอมยาว 60 เดือน งัด “ดอกเบี้ยต่ำ” ล่อช่วงแรก - ผู้จัดการออนไลน์
https://ift.tt/2TVOisZ
Home To Blog
No comments:
Post a Comment