Pages

Monday, June 8, 2020

การบินไทย : ผู้โดยสารที่ต้องการเงินค่าตั๋วคืนต้องรอจนกว่าแผนฟื้นฟูจะเสร็จในอีก 1 ปี - บีบีซีไทย

ataatso.blogspot.com

การบินไทยตั้งโต๊ะชี้แจงขั้นตอนการฟื้นฟูกิจการภายใต้พ.ร.บ.ล้มละลาย โดยศาลล้มละลายกลาง คาดว่ากระบวนการฟื้นฟูฯ จะกินเวลาไปอย่างน้อย 5 ปี ส่วนประเด็นร้อนเรื่องการคืนเงินค่าตั๋วเครื่องบินของผู้โดยสารต้องรอต่อไปจนกว่าศาลจะอนุมัติแต่งตั้งผู้ทำแผนฟื้นฟู

ด้านบริษัทที่ปรึกษาฝ่ายการเงินระบุแม้กระทรวงการคลังจะให้เงินกู้ไม่ได้ หลังสิ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่สามารถหาแหล่งเงินกู้ได้จากสถาบันการบินได้ แต่ยังไม่ระบุว่าจะกลับมาดำเนินการบินได้เมื่อไหร่ ส่วนฝ่ายกฏหมายยืนยันเจรจาเจ้าหนี้เครื่องบินเป็นไปด้วยดีไม่มีการยึดเครื่องบิน

บ่ายวันที่ 6 มิ.ย. การบินไทยเปิดการชี้แจงผ่านสื่อออนไลน์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ โดยมีตัวแทนของบริษัท และตัวแทนจาก บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเคนซี่ จำกัด บริษัทที่ปรึกษากฎหมาย และ บริษัท หลักทรัพย์ฟินันซ่า จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการเงิน มาอธิบายถึงแนวทาง ขั้นตอนการแก้ไขในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ภายหลังจากที่ตัวแทนบริษัทได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา

การฟื้นฟูกิจการคาดกินเวลา 5-7 ปี

นางอรอนงค์ ชุณหะมาน ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์และบริหารกลาง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน ) ชี้แจงเรื่องว่าบริษัทได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางไปแล้วเมื่อ 26 พ.ค. ที่ผ่านและศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 27 พ.ค. และทำให้การบินไทยต้องอยู่ภายใต้สภาวะบังคับชั่วคราว (automatic stay) ไปแล้วนั้น ศาลฯ จะมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือไม่ในช่วงปลาย ส.ค. ที่จะถึงนี้ หากว่าศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูแล้ว จะมีการแต่งตั้งผู้ทำแผนตามที่การบินไทยเสนอ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ในขณะเดียวกันเจ้าหนี้ก็สามารถนำเสนอผู้ทำแผนฟื้นฟูแข่งได้

อย่างไรก็ตาม หากศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการและแต่งตั้งผู้บริหารแผนเพื่อดำเนินการตามแผนฟื้นฟูซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาราว 1 ปี หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการดำเนินการตามแผนซึ่งจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน แต่สามารถขยายได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี

สำหรับรายนามผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการที่การบินไทยเสนอต่อศาลล้มลายกลางประกอบด้วย บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับกรรมการบริษัทอีก 6 คน คือ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์ หวังเจริญ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร

ยังเปิดรับเรื่องขอคืนเงิน แต่ยังตอบไม่ได้ว่าจะคืนเมื่อไหร่

ประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุดซึ่งเคยเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ก่อนหน้านี้คือ ผู้โดยสารที่ต้องการคืนเงินค่าตั๋วเครื่องบินที่ซื้อไปแล้วจะสามารถได้รับเงินคืนหรือไม่

นางอรอนงค์ ชี้แจงว่า การเลือกใช้สิทธิคืนเงินตั๋วโดยสารเครื่องบินหรือเลื่อนตั๋วโดยสารเป็นสิทธิของลูกค้าตามเงื่อนไขการออกตั๋วโดยสารบริษัทจึงไม่มีนโยบายระงับสิทธิลูกค้าการยื่นเรื่องขอคืนเงินตั๋วโดยสาร โดยบริษัทยังเปิดรับเรื่องลูกค้าขอคืนเงินอยู่ แต่การจ่ายเงินคืนให้กับลูกค้าในขณะนี้ยังกระทำไม่ได้ เพราะติดขัดข้อจำกัดทางกฎหมาย

"บริษัทต้องขอกราบอภัยเป็นอย่างมาก" นางอรอนงค์ กล่าวและเสริมว่าบริษัทตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะดูแลลูกค้าที่ขอคืนบัตรโดยสารอย่างดีที่สุด ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยจะแจ้งสิทธิของลูกค้าผ่านช่องทางต่าง ๆ ต่อไป

"บริษัทไม่สามารถประกาศนโยบายที่ชัดเจนได้ในขณะนี้ เพราะว่าแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทจะจัดทำขึ้นโดยผู้ทำแผนที่ได้รับการแต่งตั้งจากศาลฯ บริษัทจึงไม่ใช่ผู้ทำแผน การประกาศนโยบายใด ๆ จึงต้องมีความระมัดระวังให้อยู่ในกรอบอำนาจของบริษัท"

นางอรอนงค์ ไม่ได้ระบุเวลาว่าจะใช้เวลาเท่าไร แต่จากคำแถลงก่อนหน้า สรุปได้ว่า กระบวนการทำแผนจนถึงศาลฯอนุมัติแผนรวมแล้วจะใช้เวลาราว 1 ปี

เครื่องบินของการบินไทยถูกยึดหรือไม่

จากที่มีกระแสข่าวว่าการบินไทยได้รับใบทวงหนี้มาจากเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเครื่องบิน ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายของการบินไทย อธิบายว่า ปัจจุบันได้เริ่มเจรจากับเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่องบินหลายเจ้า ซึ่งหลายรายก็ให้การผ่อนผันให้การบินไทยใช้เครื่องบินไปก่อนโดยจะไม่ยึดเครื่องในช่วงที่ดำเนินการบินไปต่างประเทศ

ในขณะเดียวกันก็ได้ยื่นเรื่องขอให้ศาลในต่างประเทศให้รับรองการฟื้นฟูกิจการและผลของการมีสภาพบังคับของการฟื้นฟูกิจการในประเทศไทย โดยได้ยื่นเรื่องดังกล่าวไปแล้ว 2 ประเทศแล้ว และจะตามมาอีกหลายประเทศ

เขายืนยันว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีเครื่องบินการบินไทยถูกยึด เจ้าหนี้ยังไม่เลิกสัญญา และยังไม่มีเจ้าหนี้รายได้ยกเลิกสัญญา ซึ่งโดยทางปฏิบัติแล้ว เมื่อการบินไทยผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่า เจ้าหนี้ก็จะส่งใบทวงหนี้ ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติ

ทำไมการบินไทยยังไม่เข้าสู่กระบวนการ Chapter 11 ในสหรัฐฯ

ส่วนประเด็นการที่ยังไม่ยื่น Chapter 11 ซึ่งเป็นกฎหมายล้มละลายในสหรัฐฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรายนี้อธิบายว่า "ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็น เพราะกำลังเจรจากับเจ้าหนี้ต่างประเทศได้ค่อนข้างดี และการขอคำรับรองจากศาลในต่างประเทศก็ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี เฉพาะนั้น Chapter 11 จึงถือเป็นทางออกสุดท้ายจริง ซึ่งจะมีขั้นตอนยุ่งยากและเสียเวลามาก แต่ยังไม่ได้ประเด็นนี้ออกไป เพื่อรับการคุ้มครองตาม Chapter 11"

การจัดประเภทเจ้าหนี้จะอยู่ในช่วงทำแผน ซึ่งผู้ทำแผนจะเสนอว่าจะมีเจ้าหนี้กี่กลุ่มเช่น เจ้าหนี้เครื่องบิน เจ้าหนี้หุ้นกู้ เจ้าหนี้คืนตั๋วซึ่งจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเวลา 3 เดือนนับตั้งแต่แต่งตั้งผู้ทำแผนหรือขยายระยะเวลาได้ การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ถือว่ามีความสำคัญต่อการทำแผน เพราะคนที่จะอนุมัติแผนคือ "เจ้าหนี้"

นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์ฟินันซ่า จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษาการเงินของการบินไทย ระบุว่า การบินไทยได้ประเมินความพร้อมการกลับมาบินในเส้นทางการบินต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น ประเทศปลายทางอนุญาตให้ทำการบินเข้าไปได้หรือไม่ ผู้โดยสารมีเพียงพอหรือไม่ ทีมของการบินไทยมีการวิเคราะห์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะกลับมาบินได้หรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่าง ๆ อย่างไรก็ตามต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้โดยสารและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัททั้งหมด

ก่อนที่จะกลับมาบิน การบินไทยได้มีการบริหารสภาพคล่องรอบคอบที่สุดมีการลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อรักษาสภาพคล่อง

ก.คลังสามารถให้เงินช่วยเหลือได้หรือไม่

การบินไทยได้พ้นสถานะการเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยกฎหมายกระทรวงการคลังไม่สามารถให้การสนับสนุนโดยตรงได้ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยเงินกู้หรือการค้ำประกันเงินกู้ให้กับการบินไทย หลังจากยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางแล้ว การบินไทยยังสามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจและการอนุมัติของศาลฯ ส่วนเงินกู้ที่จะเข้ามาจะไม่มีบุริมสิทธิ์ในการขอให้ชำระหนี้แต่จะเป็นในสถานะเท่าเทียมกับเจ้าหนี้อื่น ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนแหล่งทุนในอนาคตขึ้นอยู่กับผู้ทำแผน และแผนที่จะได้รับการอนุมัติ ว่าจะมีความต้องการขนาดทุนเท่าไหร่ อาจจะมาจากการแปลงหนี้ให้เป็นทุน หรือทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม หรือจากพันธมิตรใหม่

อะไรคือ ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการ

ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์และบริหารกลาง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน ) กล่าวว่า ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อความสำเร็จ คือ

  1. ความร่วมมือและการสนับสนุนของเจ้าหนี้ในการพิจารณาแต่งตั้งแผนผู้ทำแผน การพิจารณาเห็นชอบด้วยแผน และการพิจารณาแต่งตั้งผู้บริหารแผน
  2. การสนับสนุนของรัฐบาลในการดำเนินการฟื้นฟูกิจการ เช่น การแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาและให้คำแนะนำในการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามแผนฟื้นฟูที่กำหนดไว้
  3. ปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ซึ่งประกอบ แนวโน้มของอุตสาหกรรมในอนาคต สภาพเศรษฐกิจ สภาพการเมืองและแนวนโยบายรัฐบาล เป็นต้น

Let's block ads! (Why?)


June 08, 2020 at 05:10AM
https://ift.tt/2Yaxj7O

การบินไทย : ผู้โดยสารที่ต้องการเงินค่าตั๋วคืนต้องรอจนกว่าแผนฟื้นฟูจะเสร็จในอีก 1 ปี - บีบีซีไทย
https://ift.tt/2TVOisZ
Home To Blog

No comments:

Post a Comment