EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมิน 3 ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกในช่วงที่เหลือของปี 2020 คือ 1) มาตรการปิดเมืองในหลายประเทศกลับมาเข้มงวดขึ้นอีกครั้งตามการระบาดซ้ำของ COVID-19 2) มาตรการสนับสนุนของภาครัฐในหลายประเทศที่กำลังจะหมดอายุลง (policy cliff) ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป
และ 3) การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านภาษี ด้านการค้าระหว่างประเทศ และด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดการเงินข้างต้น EIC จึงปรับประมาณการและมุมมองต่อตลาดการเงินดังนี้เงินบาท ณ สิ้นปี 2020 มีแนวโน้มแข็งค่าจากระดับปัจจุบันมาอยู่ที่กรอบ 30.5-31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มอ่อนค่าเพิ่มเติมได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแน้วโน้มไหลเข้าตลาด EM
และ ธปท. มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับข้อจำกัดในการดูแลค่าเงินบาทมากขึ้นจากความเสี่ยงที่จะถูกทางการสหรัฐฯ จัดให้อยู่ในกลุ่ม monitoring list ของกลุ่มประเทศ currency manipulator อีกทั้งยังมีแรงกดดันจากการขายทองคำในช่วงที่ราคาปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี เงินบาทจะไม่แข็งค่าขึ้นมาก เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดไทยมีแนวโน้มเกินดุลลดลงอย่างมีนัย
คาดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นอายุ 1 ปี ณ สิ้นปี 2020 จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 0.5-0.6% ตามแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและไทย และปรับประมาณการอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวอายุ 10 ปี ณ สิ้นปี 2020 มาอยู่ที่ 1.30-1.40%
เนื่องจาก อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาว มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังภาครัฐอาจหันมาระดมทุนผ่านพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวมากขึ้นในระยะต่อไป และภาวะเศรษฐกิจไทยที่จะหดตัวน้อยลงในช่วงครึ่งหลังของปีทำให้นักลงทุนอาจทยอยโยกย้ายการลงทุนออกจากสินทรัพย์ปลอดภัย
ด้วยมาตรการสนับสนุนขนาดใหญ่จากภาครัฐและการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง ทำให้เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด (bottoming out) และนักลงทุนเริ่มกลับมาถือสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มมากขึ้น โดยหลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ชะลอลงในหลายประเทศ
ประกอบกับภาครัฐได้มีมาตรการสนับสนุนขนาดใหญ่ออกมาและทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองลง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด เงินทุนเคลื่อนย้ายเริ่มไหลกลับเข้าสู่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM)
โดยเฉพาะตลาดพันธบัตรรัฐบาลที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าตลาดหุ้น ส่วนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของหลาย ๆ ประเทศทยอยปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน โดยในบางตลาดได้ปรับสูงกว่าระดับก่อนที่มีโรคระบาดแล้ว เช่น ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (NASDAQ) ตลาดหลักทรัพย์จีน (Shanghai) และตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี EIC ประเมิน 3 ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกในช่วงที่เหลือของปี 2020 จากสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่กลับมาสูงขึ้นในหลายประเทศหลังมีการทยอยเปิดเมือง
ซึ่งอาจส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งแม้จะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่การฟื้นตัวในระยะถัดไปอาจชะลอตัวลงได้ (stalling economic recovery) ในรายงานฉบับนี้ EIC ได้ประเมินปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกในช่วงที่เหลือของปีไว้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
มาตรการปิดเมืองในหลายประเทศที่อาจกลับมาเข้มงวดขึ้นอีกครั้งหลังการระบาดของ COVID-19 ทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไปที่อาจชะลอลง
หลังกลับมาเปิดเมือง
สถานการณ์การระบาด COVID-19 ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน โดยมีทั้งกลุ่มที่คุมสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อได้ (ยุโรปและเอเชีย) และกลุ่มที่ยังไม่สามารถคุมสถานการณ์ได้ (สหรัฐอเมริกา บราซิล และอินเดีย เป็นต้น)
จากสถานการณ์การควบคุมโรคระบาดที่แตกต่างกันทำให้ความคืบหน้าของมาตรการการเปิดเมืองมีความแตกต่างกัน โดยในประเทศที่จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง ภาครัฐได้เริ่มทยอยเปิดเมืองต่อเนื่อง ในขณะที่ในประเทศที่จำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาอยู่ในระดับสูง ภาครัฐได้เริ่มมีการเลื่อนการเปิดเมือง (lockdown easing delay)
หรือกลับมาเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการอีกครั้ง เช่น สหรัฐฯ ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่อาจเริ่มชะลอตัวลงในระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม EIC ประเมินว่า มาตรการปิดเมืองในระยะหลังจะไม่มีความเข้มงวดเท่ากับที่เคยประกาศใช้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการปิดเมืองเป็นวงกว้างและเข้มงวดสูงมาก เนื่องจากรัฐบาลในหลายประเทศตระหนักถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ตกอยู่ในภาวะหยุดชะงัก (sudden stop)
มาตรการสนับสนุนของภาครัฐบางมาตรการกำลังจะหมดอายุลง หรือผ่อนคลายในอัตราที่ชะลอลง ในขณะที่รายได้และการจ้างงานยังต่ำกว่าระดับปกติ
มาตรการประเภทให้เงินช่วยเหลือ (cash handout) บางมาตรการเริ่มหมดอายุลง อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนในการต่ออายุและขนาดของโครงการที่อาจเล็กลง (fiscal cliff) ทำให้ความเสี่ยงด้านต่ำต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสูงขึ้น
ที่ผ่านมา ภาครัฐได้มีการออกมาตรการการเงินและการคลังขนาดใหญ่เพื่อเป็นการประคับประคองเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะหยุดชะงักและตลาดการเงินที่อยู่ในภาวะวิ่งเข้าหาเงินสด (dash for cash) โดยมาตรการประเภทให้เงินช่วยเหลือ (cash handout) ส่วนใหญ่เป็นมาตรการชั่วคราว
เช่น ในสหรัฐฯ มีมาตรการให้เงินสนับสนุนโดยตรงแก่บุคคลผ่านการคืนภาษีซึ่งดำเนินในช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2020 อีกทั้งยังมีมาตรการให้เงินสนับสนุนเพิ่มเติมแก่ผู้ว่างงาน (600 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อสัปดาห์) ซึ่งจะหมดอายุลงในเดือนกรกฎาคม 2020 โดยการต่ออายุมาตรการมีความไม่แน่นอนสูงและขนาดของมาตรการอาจเล็กลง
ส่วนในกรณีของไทยนั้น มีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งจะหมดอายุลงในช่วงเดือนกรกฎาคม 2020 และมีความไม่แน่นอนในการต่ออายุเช่นกัน ซึ่งหากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาไม่ทันกับการหมดอายุลงของมาตรการภาครัฐ
หรือมาตรการเหล่านี้ไม่ถูกต่ออายุออกไป หรือถูกต่ออายุออกไปแต่มีขนาดเล็กลง (fiscal cliff) เนื่องจากงบประมาณที่เหลืออยู่เริ่มมีจำกัด ก็อาจส่งผลกระทบให้กำลังซื้อของภาคครัวเรือนลดลง และทำให้ความเสี่ยงด้านต่ำต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีมากขึ้น
การดำเนินนโยบายการเงินมีแนวโน้มผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ แต่มาตรการอื่น ๆ อาจเริ่มผ่อนคลายในอัตราที่ชะลอลง โดยในช่วงที่ผ่านมาธนาคารกลางต่าง ๆ ได้ผ่อนคลายนโยบายการเงินผ่านอัตราดอกเบี้ย และสร้างเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่ในการอัดฉีดสภาพคล่อง และเป็นหลังพิง (backstop) เพื่อรักษาเสถียรภาพให้กับระบบการเงิน โดยในระยะต่อไป EIC ประเมินว่าเครื่องมือต่าง ๆ น่าจะมีแนวโน้มดังต่อไปนี้
อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องเพื่อประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินจะยังอยู่ในระดับต่ำโดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่จะอยู่ในระดับใกล้ศูนย์
โดยธนาคารกลางจะยังคงเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินเพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถระดมทุนได้ในต้นทุนที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง[1]
อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายนโยบายการเงินผ่านเครื่องมืออื่น ๆ จะมีลักษณะเฉพาะเจาะจงมากขึ้น มาตรการที่สนับสนุนการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) และการค้ำประกันจากภาครัฐ ที่เดิมทีเคยให้ความช่วยเหลือเป็นการทั่วไปจะเริ่มมีเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น โครงการปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและเล็กของสหรัฐฯ (ภายใต้โครงการ Paycheck Protection Program: PPP) ที่ได้รับการต่ออายุออกไปจนถึงสิ้นปี 2020 แต่เงื่อนไขการให้สินเชื่อจะให้เฉพาะบางธุรกิจ ซึ่งเปลี่ยนจากเดิมที่เคยให้เป็นการทั่วไป
สำหรับในกรณีของประเทศไทย ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยได้แถลงว่าจะไม่ต่ออายุมาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไป แต่สำหรับความช่วยเหลือระยะถัดไปนั้น ลูกหนี้ที่ยังได้รับผลกระทบต่อรายได้อย่างมีนัยสามารถติดต่อสถาบันการเงินเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ได้ โดยไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต โดยความไม่แน่นอนของการต่ออายุและลักษณะของโครงการ รวมถึงขนาดของความช่วยเหลือที่อาจน้อยลง อาจสร้างความกังวลด้าน policy cliff ให้เกิดขึ้นในตลาดในระยะต่อไปได้
มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องอาจมีลักษณะผ่อนคลายในอัตราที่ชะลอลงเนื่องจากตลาดคลายความกังวลมากขึ้น เช่น เมื่อเทียบกับในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาที่ตลาดอยู่ในภาวะวิ่งเข้าหาเงินสด (dash for cash) มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องจะเริ่มมีการอัดฉีดเพิ่มเติมที่ชะลอลง
( เช่น มาตรการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ธุรกรรมการอัดฉีดสภาพคล่องเงินดอลลาร์สหรัฐให้กับหลายประเทศผ่านมาตรการ USD liquidity swap arrangements และธุรกรรมให้กู้ยืมเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระยะสั้นแก่ภาคธุรกิจในตลาดตราสารหนี้ (bridge financing))
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านภาษี ด้านการค้าระหว่างประเทศ และด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
จากผลสำรวจล่าสุดพบว่าคะแนนความนิยมของ Joe Biden ผู้สมัครจากพรรค Democrat มีคะแนนนำประธานาธิบดี Trump อยู่ค่อนข้างมาก (รูปที่ 4) โดยนโยบายด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับภาษี การค้าระหว่างประเทศ และการใช้จ่ายภาครัฐของ Joe Biden สรุปได้ดังนี้
ท่าทีของสหรัฐฯ ต่อจีนอาจไม่กลับไปประนีประนอมเท่ากับช่วงก่อนประธานาธิบดีทรัมป์ แต่ก็น่าจะไม่แข็งกร้าวเท่ากับสมัยของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งน่าจะส่งผลให้ความตึงเครียดทางด้านการค้าและเทคโนโลยี (trade and tech war) ลดความรุนแรงลงได้บ้าง
โดยคาดว่าอัตราภาษีระหว่างประเทศ (trade tariff) น่าจะไม่ถูกปรับเพิ่มขึ้น และอาจมีการสร้างพันธมิตรระหว่างประเทศ (international coalition) เพื่อกีดกันการค้าต่อจีน แทนที่การใช้ unilateral tariff แบบที่ผ่านมา
การปรับเพิ่มอัตราภาษีทั้งภาษีภาคธุรกิจ (corporate tax) และภาษีต่อผู้มีรายได้สูง แต่อัตราภาษีที่จะถูกปรับขึ้นนั้นคาดว่าจะไม่สูงมากนัก โดยอัตราภาษีภาคธุรกิจอาจถูกปรับขึ้นจาก 21% มาอยู่ที่ 28% (เมื่อเทียบกับ 35% ในช่วงก่อนที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะลดอัตราภาษีลง) ซึ่งอาจส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ลดลง และอาจทำให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายส่วนหนึ่งไหลออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้
การใช้จ่ายภาครัฐในสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับสูงขึ้นมากเพื่อประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ผ่านทั้งในรูปการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการสาธารณสุข ทั้งนี้แม้รายได้ภาครัฐที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการขึ้นภาษี แต่การขาดดุลทางการคลังของสหรัฐฯ น่าจะยังปรับสูงขึ้น
เนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจะยังไม่สามารถชดเชยรายจ่ายที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่า โดยล่าสุด Fitch rating ได้ปรับลดมุมมอง outlook ของสหรัฐฯ ลงมาเป็น negative จากเดิมที่อยู่ในระดับ stable แต่ยังคงระดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) ไว้ที่ AAA
จากแนวนโยบายทั้ง 3 ด้านของ Joe Biden EIC ประเมินว่า หาก Biden ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2020 ผลการเลือกตั้งอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงจากเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นจากการขาดดุลการคลังที่คาดว่าจะมีมากขึ้น อีกทั้งเงินทุนเคลื่อนย้ายจะทยอยไหลกลับเข้าสู่กลุ่มประเทศ EM ได้
ประมาณการและมุมมองตลาดการเงิน
ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดการเงินข้างต้น EIC จึงปรับประมาณการและมุมมองต่อตลาดการเงินดังนี้
EIC คาดเงินบาท ณ สิ้นปี 2020 แข็งค่าจากปัจจุบันมาอยู่ที่กรอบ 30.5-31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (จากเดิมคาดไว้ที่ 31.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในรายงาน Outlook ไตรมาส 2 ปี 2020) ค่าเงินบาทปรับอ่อนค่าลงจากสิ้นปีก่อน โดยเฉพาะในไตรมาส 3 ปี 2020 ที่ปรับอ่อนค่าลงรวดเร็ว สวนทางกับค่าเงินสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาคที่แข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในวันที่ 3 สิงหาคม 2020 เงินบาทอยู่ที่ 31.2 อ่อนค่าจากต้นปี 4.9%
โดยเงินบาทที่อ่อนค่าลงค่อนข้างเร็วในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้เป็นผลจากปัจจัยในประเทศเป็นสำคัญคือ 1) ปัจจัยจากเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลออกจากตลาดหลักทรัพย์ไทยในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่นักลงทุนกังวลกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในไทย และความไม่แน่นอนทางการเมือง
และ 2) การที่ภาคธุรกิจไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศในช่วงที่ธุรกรรมในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างเบาบางจึงทำให้เงินบาทอ่อนค่าเร็ว อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้า EIC ประเมินว่า เงินบาทจะเผชิญกับปัจจัยด้านแข็งค่าดังต่อไปนี้
เงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2020 ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 93.7 อ่อนค่าลงจากต้นปี 2.7% โดย EIC มองว่าเงินดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้อีกเล็กน้อยจากปัจจัยดังต่อไปนี้
เศรษฐกิจโลกทยอยฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี โดยทั่วไปแล้วเงินดอลลาร์สหรัฐมักจะแข็งค่าในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ เนื่องจากนักลงทุนต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยที่มีเสถียรภาพและความเชื่อมั่นอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกทยอยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด และหลาย ๆ ประเทศทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง (lockdown easing) ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนปรับสูงขึ้น ความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยจึงมีน้อยลง
นอกจากนี้ EIC ยังพบว่าในช่วงที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 เกิดเป็นวงกว้างและรวดเร็วจนทำให้ภาครัฐต้องใช้มาตรการปิดเมืองอย่างเข้มงวด ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลงรุนแรงและกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงมากตามไปด้วย ซึ่งในช่วงเดียวกันเงินดอลลาร์สหรัฐปรับแข็งค่าขึ้น
ซึ่งในระยะต่อไป EIC มองว่า แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะชะลอลง จากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ยังสูงขึ้นในบางประเทศ แต่ด้วยมาตรการปิดเมืองที่น่าจะมีลักษณะเฉพาะพื้นที่ (local lockdown) ซึ่งต่างจากมาตรการแบบเดิมที่เคยใช้คือปิดเมืองเป็นวงกว้าง (nation-wide lockdown) จะไม่ทำให้เศรษฐกิจกลับไปหดตัวและกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างรุนแรง ซึ่งน่าจะทำให้แรงกดดันด้านอ่อนค่าต่อเงินดอลลาร์สหรัฐยังมีอยู่ต่อไป
แนวโน้มที่ Biden จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผลสำรวจคะแนนนิยมล่าสุดที่พบว่า Biden มีคะแนนนำ Trump อยู่ค่อนข้างสูง น่าจะทำให้ตลาดการเงินโลกเริ่มปรับคาดการณ์เกี่ยวกับแนวนโยบายของ Biden ซึ่งน่าจะส่งผลให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ซึ่งหาก Biden ชนะการเลือกตั้งจริงก็มีโอกาสที่จะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงได้เพิ่มเติมตามที่ได้อภิปรายข้างต้น
การดำเนินนโยบายการเงินที่จะมีแนวโน้มผ่อนคลายต่อเนื่อง แม้การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในสหรัฐฯ น่าจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ แต่ Fed สามารถเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินได้อย่างต่อเนื่อง (คาดว่าเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ราว 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน และเข้าซื้อพันธบัตร MBS ราว 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน)
ขณะที่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยต้องเผชิญกับขีดความสามารถในการผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไป (มีข้อจำกัดในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายใกล้ถึงศูนย์) จึงทำให้แรงกดดันด้านอ่อนค่าต่อเงินดอลลาร์สหรัฐเทียบกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จะยังมีอยู่
ทั้งนี้ EIC ประเมินว่าความเสี่ยงที่อาจทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ในระยะต่อไปคือ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสระลอกสองในหลาย ๆ ประเทศ และความไม่แน่นอนของมาตรการภาครัฐที่กำลังจะหมดอายุลง
โดยหากภาครัฐในหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองโดยไม่ระมัดระวัง และเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสอีกเป็นวงกว้าง จะทำให้ความกังวลของนักลงทุนปรับเพิ่มสูงขึ้นรวดเร็วจนอาจเกิดสถานการณ์วิ่งเข้าหาสินทรัพย์ปลอดภัย (dash for cash) ได้อีก ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐปรับแข็งค่าขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ หากในระยะต่อไปมาตรการภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจและตลาดแรงงานทยอยปรับหมดลงโดยที่ภาคธุรกิจและครัวเรือนยังไม่สามารถปรับตัวได้ (เช่น ในสหรัฐฯ และไทยที่กำลังหมดอายุลง) ก็อาจเป็นความเสี่ยงที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับแย่ลงกว่าที่คาด จึงทำให้แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลาร์สหรัฐต้องหยุดลงได้
นอกจากปัจจัยด้านการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐแล้ว ยังมีปัจจัยของไทยที่ทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ คือ
เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลเข้าตลาด EM รวมถึงตลาดการเงินไทยในระยะต่อไป จากความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่ปรับลดลง ในช่วงที่ผ่านมา เงินทุนเคลื่อนย้ายเริ่มไหลกลับเข้าสู่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทย
ซึ่ง EIC มองว่าในระยะข้างหน้า เงินทุนเคลื่อนย้ายยังมีแนวโน้มไหลเข้าตลาดการเงินไทยได้อีก เนื่องจากความผันผวนของตลาดการเงินโลกปรับลดลง ทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับดีขึ้นและหันมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มมากขึ้น
โดย EIC พบว่าในช่วงที่ความผันผวนของตลาดการเงินโลกอยู่ในระดับสูงมาก เงินทุนเคลื่อนย้ายมักไหลออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) แต่หากความผันผวนในตลาดเงินอยู่ในระดับปานกลางหรือต่ำ เงินทุนเคลื่อนย้ายมักไหลเข้ากลุ่มประเทศ EM ในอัตราปานกลางและมากตามลำดับ
นอกจากนี้ แนวโน้มที่ภาครัฐอาจระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้นเพื่อการใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่ดึงดูดให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทยได้
อย่างไรก็ดี EIC มองว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายจะไหลเข้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากความผันผวนในตลาดการเงินโลกยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ไทยเทียบต่อความผันผวนของค่าเงินอยู่ยังในระดับต่ำ
โดยความผันผวนในตลาดการเงินโลกอาจมาจาก 1) โอกาสในการระบาดของ COVID-19 ที่อาจมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นบ้างตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนออกแจกจ่ายได้โดยทั่วไป 2) ความเสี่ยงที่ภาครัฐจะดำเนินมาตรการปิดเมืองอีกครั้งหากไวรัสกลับมาแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว
และ 3) ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ความผันผวนของตลาดเงินอาจยังไม่กลับเข้าสู่ระดับปกติดังช่วงก่อนมี COVID-19
อีกทั้ง EIC ยังมองว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ไทยน่าจะยังมีได้ไม่สูงนัก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จึงทำให้นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่ย้ายสินทรัพย์เข้ามาหุ้นไทยมากนัก
นอกจากนี้ ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นและจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทเทียบต่อความผันผวนของค่าเงินบาท (Sharpe ratio) ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลเข้าตลาดการเงินไทยได้ไม่มากนัก
ธปท. มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับข้อจำกัดในการดูแลค่าเงินบาทมากขึ้น หลังจากไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม monitoring list ของกลุ่มประเทศที่มีการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า (currency manipulator) จากสหรัฐฯ
โดยในรายงาน “Macroeconomics and FX Policy of Major Trading Partners” ล่าสุดของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม 2020 ไทยอยู่ในรายชื่อประเทศคู่ค้าสำคัญกับสหรัฐฯ (major trading partners) เนื่องจากมีมูลค้าการค้ากับสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2018 ถึง มิถุนายน 2019 เกิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
แต่ไทยยังไม่ถูกจัดเป็นประเทศที่ต้องจับตามอง (monitoring list) ซึ่งต้องเข้าเงื่อนไข 2 เกณฑ์จากทั้งหมด 3 เกณฑ์ ดังตารางที่ 2 และหากเข้าทั้ง 3 เกณฑ์จะถูกจัดเป็นประเทศที่มีการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า
สำหรับในรายงานครั้งถัดไปซึ่งเผยแพร่ล่าช้ากว่าปกติ (โดยทั่วไปจะเผยแพร่ในเดือนเมษายนและใช้ข้อมูลของทั้งปี 2019) EIC มองว่ามีโอกาสสูงที่ไทยจะเข้า 2 เกณฑ์เป็นอย่างน้อย เนื่องจากไทยมีแนวโน้มเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และดุลบัญชีเดินสะพัดปี 2019 เกินดุลที่ 6.4% ต่อ GDP
สำหรับเงื่อนไขการเข้าแทรกแซงค่าเงินนั้น ยังมีความไม่แน่นอนสูงเพราะ ธปท. ไม่เปิดเผยข้อมูลธุรกรรมการซื้อขายเงินตราระหว่างประเทศ แต่หากประเมินจากการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจะพบว่า ในปี 2019 มูลค่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของ ธปท. เพิ่มขึ้นทั้งหมด 8 จาก 12 เดือน ซึ่งมีมูลค่าราว 3.2% ต่อ GDP (สำหรับไตรมาสแรกปี 2020 ปรับเพิ่มขึ้น 2.4% ต่อ GDP เทียบกับไตรมาสแรกปี 2019)
อย่างไรก็ดี ธปท. ได้ชี้แจงในการประชุมกับนักวิเคราะห์ครั้งที่ผ่านมาว่า มีการหารือกับทางกระทรวงการคลังสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ทำให้สหรัฐฯ อาจพิจารณาเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า จึงทำให้ไทยอาจถูกจัดอยู่ใน monitoring list ของสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ทั้งนี้การเข้าดูแลค่าเงินบาทโดย ธปท. เพื่อไม่ให้แข็งค่าก็จะมีข้อจำกัดมากขึ้น
การเพิ่มขึ้นของราคาทองคำอาจเป็นแรงกดดันเพิ่มเติมต่อค่าเงินบาท โดยที่ผ่านมาพบว่าการแข็งค่าของ
เงินบาทมักมีความความสัมพันธ์สอดคล้องกับราคาทองคำที่ปรับสูงขึ้น เนื่องจากในเวลาที่ราคาทองคำปรับสูงขึ้นมาก ผู้ค้าทองคำในในไทยมักขายทองคำ (ส่งออกทองคำไปต่างประเทศ) ซึ่งเมื่อได้รับการชำระเงินในรูปดอลลาร์สหรัฐ และต้องการแลกกลับมาเป็นเงินบาท
จึงทำให้มีแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงเดียวกัน สำหรับในระยะต่อไปที่ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกยังคงมีอยู่สูง ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของ COVID-19 ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลก ความเสี่ยงทางการเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงประเด็นเรื่องความเชื่อมั่นต่อค่าเงินสกุลหลักของโลก (reserve currency) ที่ลดลง
และโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อโลกอาจปรับสูงขึ้นเร็วในระยะต่อไปหลังภาครัฐทั่วโลกต่างดำเนินนโยบายขาดดุลทางการคลังและอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อดูแลเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ หาแรงกดดันที่ทำให้ราคาทองคำปรับสูงขึ้นยังมีอยู่ ก็จะทำให้ค่าเงินบาทได้รับแรงกดดันด้านแข็งค่าต่อไปได้
อย่างไรก็ดี EIC มองว่าเงินบาทจะไม่แข็งค่าขึ้นมากดังในช่วงไตรมาส 2 ปี 2020 เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดไทยมีแนวโน้มเกินดุลลดลงอย่างมีนัย ทำให้ความต้องการเงินบาทอาจมีน้อยลง โดย EIC ประมาณการดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้ให้เกินดุลอยู่ที่ 2.1% ต่อ GDP (จากที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเคยเกินดุลถึง 6.8% ต่อ GDP ในปี 2019)
สะท้อนถึงอุปสงค์ของเงินบาทที่มีแนวโน้มปรับลดลง จากรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะลดลงมากและการส่งออกที่จะหดตัวลงเช่นกัน ซึ่ง EIC ประเมินว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่ลดลงมากนี้อาจอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค
EIC คาดว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นอายุ 1 ปี ณ สิ้นปี 2020 จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 0.5-0.6% โดย ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2020 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 1 ปี อยู่ที่ 0.49% ปรับลดลง 71 bps นับจากสิ้นปี 2019 ทั้งนี้ EIC มองว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น ณ สิ้นปี 2020 มีแนวโน้มทรงตัวในระดับปัจจุบัน เนื่องจาก
คาดการณ์การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ในช่วงที่เหลือของปี โดยปกติแล้วอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นมักเคลื่อนไหวใกล้เคียงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่อาจมีการเคลื่อนไหวผันผวนบ้างตามการคาดการณ์การปรับขึ้นหรือลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ดังนั้น EIC ประเมินว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้น อายุ 1 ปี จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามการคาดการณ์ของ EIC ที่ 0.5% ในสิ้นปีนี้
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอาจเคลื่อนไหวสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ได้เล็กน้อย ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและไทย โดยความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับลดลงทำให้นักลงทุนบางส่วนอาจขายพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำและสภาพคล่องสูงออกไปบ้าง ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอาจปรับสูงขึ้นได้เล็กน้อย
โดยคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของผู้ร่วมตลาดใน 6 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 0.54% (ณ วันที่ 20 กรกฎฎาคม 2020) สะท้อนได้ว่า นักลงทุนอาจเริ่มมองเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นจุดต่ำสุด และสะท้อนถึงการสื่อสารของ ธปท. ที่ระบุว่า ความสามารถในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีจำกัด ประกอบกับ ธปท. มีเครื่องมือนโยบายการเงินอื่น ๆ ที่สามารถนำมาใช้ได้ ทำให้การคาดการณ์ของนักลงทุนต่อการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหมดไป
EIC ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวอายุ 10 ปี ณ สิ้นปี 2020 มาอยู่ที่ 1.30-1.40% (จากเดิมที่คาดไว้อยู่ที่ 0.90-1.00% ในรายงาน Outlook ไตรมาส 2 ปี 2020) โดย ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2020 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวอายุ 10 ปี อยู่ที่ 1.19% ปรับลดลงจากต้นปี 27 bps ซึ่งในระยะข้างหน้า EIC มองว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นเล็กน้อยจากปัจจัยดังต่อไปนี้
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาว (อายุ 10 ปี) มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงที่เหลือของปี โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ณ วันที่ 31 กรกฎคม 2020 อยู่ที่ 0.54% ปรับลดลงจากต้นปี 138 bps สำหรับในระยะต่อไป EIC มองว่ามีโอกาสปรับสูงขึ้นจากระดับปัจจุบัน เนื่องจาก
เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด ทำให้ความต้องการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ลดลง โดยในช่วงครึ่งหลังของปีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นหลังจากที่รัฐบาลของหลาย ๆ ประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองลง EIC จึงคาดว่าความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยจะมีลดลง ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาวสามารถปรับสูงขึ้นจากระดับปัจจุบันได้อีกเล็กน้อยในช่วงสิ้นปีนี้
รัฐบาลสหรัฐฯ มีแนวโน้มหันมาระดมทุนผ่านพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวมากขึ้น โดยที่ผ่านมานั้น เงินระดุมทุนส่วนใหญ่มาจากการออกพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น (Treasury bill) ทำให้สัดส่วนพันบัตรระยะสั้นต่อตราสารหนี้ทั้งหมดของรัฐบาลสหรัฐฯ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2020 อยู่ที่ 25.5% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับในช่วง 10 ปีย้อนหลัง (หลังผ่านวิกฤตการเงินโลกปี 2008-09) ซึ่งอยู่ที่ราว 10-15% เท่านั้น นอกจากนี้ Treasury Borrowing Advisory Committee ยังได้เสนอรายงานต่อกระทรวงการคลังสหรัฐฯ
โดยกล่าวว่าสัดส่วน T-bill ต่อพันธบัตรรัฐบาลทั้งหมดในปัจจุบันสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตค่อนข้างมาก ในระยะต่อไปจึงเห็นควรให้ลดสัดส่วนลงเพื่อให้เข้าใกล้ค่าเฉลี่ยในอดีตมากขึ้น และด้วยแนวโน้มการขาดดุลทางการคลังที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น ในระยะกลางถึงระยะยาว EIC จึงมองว่าภาครัฐจะหันมาระดมทุนผ่านพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวจะมีมากขึ้น[2] ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวมีโอกาสปรับสูงขึ้นได้ในช่วงปลายปีนี้
อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องในปีนี้ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะไม่สามารถปรับสูงขึ้นได้มาก โดยในเดือนมิถุนายนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ ที่ไม่รวมราคาพลังงาน (CPI exclude energy price) อยู่ที่ 1.68% ปรับลดลงจากสิ้นปี 2019 ที่ 2.2%
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ ที่รวมผลของราคาพลังงาน (Headline CPI) อยู่ที่ 0.6% ปรับลดลงค่อนข้างมากจากสิ้นปีก่อนที่ 2.3% (รูปที่ 9 ซ้ายมือ) นอกจากนี้ ด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ระดับต่ำนี้ ทำให้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ทั้งจากตลาดการเงิน (breakeven inflation) และจากผลสำรวจของครัวเรือน ต่างมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่อง
การที่ Fed เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในอัตราที่มากกว่าช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในอดีต
เป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นได้ไม่มาก Fed เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในปริมาณที่สูงกว่าในอดีตมาก โดยล่าสุดมูลค่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ถือโดย Fed อยู่ที่ 4.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับสูงขึ้นจากต้นปีถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่ง EIC มองว่า Fed จะเข้าซื้อเพิ่มเติมอีกราว 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนจนถึงสิ้นปี 2020 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าการทำ QE รอบก่อน ๆ เป็นผลให้ขนาดงบดุลของ Fed ณ สิ้นปีมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 7-8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐจึงจะยังเป็นแรงกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่สามารถปรับสูงขึ้นได้มาก
สำหรับปัจจัยในประเทศที่จะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ปรับสูงขึ้นได้คือ ภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มผ่านจุดต่ำสุดในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเศรษฐกิจโลกที่จะทยอยกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2020
จะส่งผลให้การส่งออกของไทยหดตัวน้อยลงในช่วงครึ่งหลังของปี นอกจากนี้การทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองจะช่วยทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศทยอยฟื้นตัวเช่นกัน จึงทำให้นักลงทุนอาจโยกย้ายการลงทุนเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น อัตราผลตอบแทนพันฐบัตรรัฐบาลไทยจึงมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นได้
ในระยะต่อไป มีโอกาสที่รัฐบาลจะหันมาระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้น ทำให้อุปทานพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวอาจปรับสูงขึ้นกว่าที่คาดได้ โดยในปี 2012 หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2011
พบว่าภาครัฐต้องดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณและรัฐได้ออก พ.ร.ก. เพื่อให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยเป็นผลให้รัฐบาลต้องระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันนี้ รัฐบาลมีแผนกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทเพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ โดยในรายละเอียดเบื้องต้นพบว่า รัฐบาลได้กู้เงินจากสถาบันการเงินไปแล้วราว 3 หมื่นล้านบาท ออกจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาลราว 6 หมื่นล้านบาท และจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์อีก 1 แสนล้านบาท ซึ่งในระยะข้างหน้า EIC มองว่ามีโอกาสที่รัฐบาลจะหันมาระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้น ซึ่งอาจกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับสูงขึ้นได้
บทวิเคราะห์จากเว็บไซต์ EIC : https://ift.tt/3k8yAWS
ผู้เขียนบทวิเคราะห์ : ดร. กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
วชิรวัฒน์ บานชื่น นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
พงศกร ศรีสกาวกุล นักวิเคราะห์ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
มณฑล วานิชประเสริฐพร นักวิเคราะห์ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
EIC Online: www.scbeic.com
Line: @scbeic
August 03, 2020 at 08:19PM
https://ift.tt/31kcaJX
EIC SCB เปิด 3 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ-ตลาดการเงินโลก - efinanceThai
https://ift.tt/2TVOisZ
Home To Blog
No comments:
Post a Comment