การชุมนุมของกลุ่ม "ประชาชนปลดแอก" ซึ่งเป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมชุมนุมมากที่สุดในรอบ 6 ปี นับแต่รัฐประหารของ คสช. ยุติลงในเวลา 22.43 น. วันนี้ (16 ส.ค.) โดยนายทัตเทพ เรืองประไพกิตเสรี เลขาธิการคณะประชาชนปลดแอก ระบุว่าหากภายในเดือน ก.ย. นี้รัฐไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้อง ทางกลุ่มจะยกระดับการชุมนุม
ตลอดระยะเวลา 8 ชั่วโมงของการชุมนุมซึ่งเริ่มตั้งแต่เวลา 15.00 น. สถานการณ์เป็นไปด้วยความสงบ ผู้ชุมนุมกระจายตัวเต็มพื้นที่รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและบนถนนราชดำเนินกลางตั้งอนุสาวรีย์ฯ ไปจนถึงแยกคอกวัว มีนักกิจกรรมจากกลุ่มต่าง ๆ ผลัดกันขึ้นมาปราศรัยสลับกับการแสดงละครและดนตรี
นายทัตเทพขึ้นปราศรัยเป็นคนสุดท้าย ด้วยการยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน และ 1 ความฝัน โดยระบุว่าหากภายในเดือน ก.ย. นี้ไม่มีการตอบสนองจากรัฐ โดยเฉพาะการทำให้ ส.ว. ทั้ง 250 คนพ้นไป ทางกลุ่มจะยกระดับการชุมนุมต่อไป ก่อนร่วมกันตะโกนว่า "เราจะไม่หยุดจนกว่าอำนาจมืดจะหมดไป"
จากนั้นนายทัตเทพได้ประกาศเชิญ 31 แกนนำผู้จัดการชุมนุมที่คาดว่ามีหมายเรียกและถูกตั้งข้อหาอย่างน้อย 8 ข้อหา จากการจัดการชุมนุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 ก.ค. พร้อมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาชี้แจงว่าใครถูกหมายจับหรือหมายเรียกบ้าง แต่สุดท้ายไม่มีเจ้าหน้าที่มาชี้แจงหรือแสดงหมายใด ๆ ทำให้เขาประกาศยุติการชุมนุม และไม่ได้ประกาศให้มวลชนร่วมเดินไปยัง สน.สำราญราษฎร์ เพื่อทวงถามความคืบหน้าทางคดีตามที่เขาออกมาเปิดเผยกับสื่อมวลชนก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม หลังประกาศยุติการชุมนุมและประชาชนแยกย้ายกันกลับแล้ว แกนนำเยาวชนบางส่วน รวมทั้งนายอานนท์ได้พากันเดินไปยัง สน. สำราญราษฎร์เพื่อขอความชัดเจนเกี่ยวกับการออกหมายจับและการดำเนินคดีจากตำรวจ แต่เมื่อถึงสถานีตำรวจแล้วไม่มีเจ้าหน้าที่นำหมายจับมาแสดงหรือให้ข้อมูลใด ๆ แกนนำเยาวชนจึงบอกกับตำรวจว่า "เราจะกลับไปเรียนหนังสือแล้ว อย่ามาตามจับเราอีก" ก่อนที่ทั้งหมดจะเดินไปยังบริเวณเสาชิงช้า
นายอานนท์ กล่าวว่า กลุ่มแกนนำได้ส่งทนายความ 2 คน ไปเจรจากับตำรวจเพื่อขอทราบแนวทาง ว่าตำรวจจะดำเนินการอย่างไรต่อไป และจะปักหลักรอว่าจะมีการจับกุมหรือไม่ ซึ่งหากจะมีการจับกุมตำรวจจะต้องนำตัวไปส่งศาลเพื่อขอฝากขังภายในเวลา 48 ชั่วโมง แต่หากไม่มีการจับกุม และต้องการให้ผู้ที่ถูกออกหมายจับไปแสดงตัวเองต่อตำรวจเอง ตำรวจก็สามารถใช้ดุลพินิจให้มีการประกันตัวและปล่อยตัวที่ สน.ได้ โดยขณะนี้มีกลุ่มนักวิชาการและ ส.ส. ที่พร้อมแสดงตัวเป็นนายประกันให้ หรือจะให้นัดไปเจอที่ศาลเพื่อเข้ากระบวนการของศาลต่อไป ดังนั้นในขณะนี้จึงถือว่าผู้ที่มีรายชื่อว่าถูกออกหมายจับยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
หลังจากนั้นกลุ่มแกนนำซึ่งรวมตัวที่เสาชิงช้าได้ประกาศสลายตัว โดยนายทัตเทพ กล่าวว่าได้รับคำแนะนำจากทนายความให้แยกย้ายกลับบ้าน และหลังจากนี้จะกลับไปใช้ชีวิตตามปกติโดยไม่มีการมอบตัวแต่อย่างใด
กิจกรรมในวันนี้จัดขึ้นในวาระครบรอบเดือน หลังมีการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกเมื่อ 18 ก.ค. ซึ่งในวันนั้นผู้จัดการชุมนุมในนาม "เยาวชนปลดแอก" ได้ประกาศข้อเรียกร้อง 3 ข้อต่อรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ประกอบด้วย หยุดคุกคามประชาชน, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา
ต่อมามีการพัฒนาเครือข่ายขึ้นเป็น "คณะประชาชนปลดแอก" เพื่อขยายแนวร่วมไปสู่นักกิจกรรมการเมืองตามสถานศึกษาต่าง ๆ รวมถึงประชาชนทั่วไป พร้อมเพิ่มหลักการ 2 ข้อ ได้แก่ ต้องไม่มีการทำรัฐประหาร และไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และ "1 ความฝัน" คือการมี "ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ"
แม้มีข้อวิเคราะห์จากนักการเมืองและนักวิชาการบางส่วนว่าข้อเรียกร้อง 10 ข้อให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. เป็นปรากฏการณ์ "ทะลุเพดาน" และจะทำให้แนวร่วมการเคลื่อนไหวลดลง แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมหลายพันคน โดยเมื่อเวลา 16.30 น. ตำรวจประเมินว่ามีผู้ชุมนุมประมาณ 3,000 คน ขณะผู้จัดการชุมนุมประเมินเมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. ว่าผู้ชุมนุม "ทะลุ 1 หมื่นคน"
ผู้ร่วมชุมนุมทยอยเดินทางมาที่ถนนราชดำเนินตั้งแต่ก่อน 15.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้จัดการชุมนุมนัดหมาย บางส่วนชูป้ายข้อความที่นำมาเอง มีการตั้งเวทีขนาดเล็กบนถนนราชดำเนินกลางตรงข้ามศูนย์เบนซ์ธนบุรี แกนนำเริ่มต้นกิจกรรมด้วยการชวนผู้ชุมนุมร้องเพลง "แจวขับไล่รัฐบาล" เรียกร้องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และหยุดการคุกคามประชาชน และเรียกร้องให้ ส.ว. 250 คน ที่มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ ออกจากการเมือง
ขณะที่กลุ่มที่เรียกตัวเองว่าแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นำโดยนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ได้เดินขบวนเรียกร้องย้ำข้อเรียกร้อง 10 ประการเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ขณะที่บนเวทียังมีการปราศรัยในหลายประเด็นรวมถึงความเท่าเทียมทางเพศ
ตั้งแต่ช่วงเย็น มีหลายกลุ่มสลับกันขึ้นพูดหลากหลายปัญหาที่เกี่ยวกับการเรียกร้องประชาธิปไตยบนเวทีปราศรัย เช่น กลุ่มนักเรียนเลว กลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กลุ่มรณรงค์รื้อสร้างร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คณะผู้หญิงปลดแอกประชาชนกลุ่มหลากหลายทางเพศ
การชุมนุมใหญ่เมื่อ 18 ก.ค. ทำให้แกนนำจัดกิจกรรมอย่างน้อย 3 คน ได้แก่ นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน, นายภาณุพงศ์ จาดนอก ประธานกลุ่ม "เยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย" และนายพริษฐ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และแกนนำสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาลงวันที่ 6 ส.ค. ในข้อหาสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความกระด้างกระเดื่องฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และอื่น ๆ รวม 7-8 ข้อหา
ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้ง 3 คน โดยกำหนดเงื่อนไขว่าห้ามกระทำการใด ๆ ลักษณะเดียวกันกับการกระทำที่ถูกกล่าวหา มิฉะนั้นจะถือว่าผิดสัญญาประกัน แต่ทั้ง 3 คนก็ได้ปรากฏตัวในสถานที่ชุมนุมในวันนี้แล้ว
ด้านกองบัญชาการนครบาล (บช.น.) ระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 กองร้อย เข้ารักษาความสงบโดยรอบ พร้อมจัดชุดสืบสวนคอยหาข่าวและเก็บข้อมูลในระหว่างการชุมนุม โดยมีการประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงให้ระมัดระวังการละเมิดกฎหมายหลายฉบับ
ขณะเดียวกันประชาชนฝ่ายผู้เห็นต่างได้จัดตั้งองค์กรที่ใช้ชื่อว่า "ศูนย์กลางประสานนักศึกษาอาชีวะ ประชาชนปกป้องสถาบัน" หรือ ศอปส. ได้แทรกซึมอยู่ในสถานที่ชุมนุม "เพื่อทำการเก็บหลักฐานทั้งภาพและเสียงแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ" หากพบการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ หลังพวกเขารวมกลุ่มกันแสดงพลังปกป้องสถาบันฯ ในจุดเดียวกันนี้เมื่อช่วงสายที่ผ่านมา
ภายหลังจากการชุมนุมใหญ่เมื่อ 18 ก.ค. ได้เกิดการชุมนุมย่อยเพื่อประท้วงต่อต้านรัฐบาล หรือที่รู้จักในชื่อ "แฟลชม็อบ" ภาค 2 ตามมาอย่างน้อย 49 จังหวัดทั่วประเทศตามการรวบรวมข้อมูลของบีบีซีไทย ขณะเดียวกันมีประชาชนอีกกลุ่มได้จัดตั้งองค์กรตอบโต้ที่ใช้ชื่อว่า "ศูนย์กลางประสานนักศึกษาอาชีวะ ประชาชนปกป้องสถาบันฯ" (ศอปส.) ปรากฏความเคลื่อนไหวในการแสดงพลังปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างน้อย 11 จังหวัดทั่วไทย
"อานนท์" เชื่อสถาบันฯ พร้อมรับฟัง
นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ผู้เปิดปราศรัยเรื่องการขยายพระราชอำนาจสถาบันกษัตริย์ในพื้นที่สาธารณะเมื่อวันที่ 3 ส.ค. ให้สัมภาษณ์บีบีซีในช่วงหัวค่ำว่า การขยับเพดานการพูดประเด็นนี้ในที่ชุมนุมของประชาชน แม้จะมีความเสี่ยงในระยะแรก แต่เขาเชื่อว่าความเสี่ยงเหล่านี้จะค่อย ๆ หมดไปในที่สุด และเชื่อว่าข้อเสนอเหล่านี้จะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อได้
นายอานนท์บอกว่าเขาเชื่อว่าสถาบันพระมหากษัตริย์พร้อมจะรับฟัง "และพวกเราทุกคนพร้อมจะพูดอย่างตรงไปตรงมา"
ทนายความสิทธิมนุษยชนวัย 35 ปี อธิบายว่า ต่อจากนี้ข้อเสนอเรื่องสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็น "ความฝัน" ของคณะประชาชนปลดแอก จะอยู่ในการเคลื่อนไหวต่อไป โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ และ 2 จุดยืน เป็นบันไดที่จะทำให้ความฝันนั้นเป็นจริง
"รากแก้วที่ต้องหยั่งลึก คือ สถาบันกษัตริย์ต้องอยู่กับประเทศไทย โดยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและเหนือการเมืองอย่างแท้จริง" เขาระบุ
ต่อมาเวลาประมาณ 22.00 น. นายอานนท์ได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีโดยไม่ได้พูดลงรายละเอียดเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์แบบในเวทีก่อน ๆ แต่ย้ำเพียงว่าการต่อสู้ของพวกเขาเป็นไปเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อลดทอนอำนาจของเผด็จการ
ส่วนข้อเรียกร้อง 10 ข้อของนักศึกษาที่ถูกประกาศไว้เมื่อ 10 ส.ค. เชื่อว่าได้รับการขานรับจากประชาชนทั่วประเทศแล้ว และทำให้นักศึกษาบางส่วนถูกคุกคาม จึงอยากขอให้ทุกคนช่วยกันปกป้องด้วย
"พวกเราได้รีบการร้องขออย่างเป็นทางการให้ยึด 3 ข้อเท่านั้น... แต่ผมขอประกาศ ณ ที่นี้ว่าพวกเราจะฝันต่อ นอกจากเราจะฝัน เรายังต้องเผยแพร่ความฝันนี้ไปสู่พี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ทุกสีเสื้อ ทุกหมู่เหล่า ทุกสาขาอาชีพให้มาร่วมฝันกับพวกเรา เราต้องการเห็นสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง และอยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง" นายอานนท์กล่าว
นายอานนท์เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับอาญาเพียงรายเดียวที่ได้ขึ้นเวทีปราศรัยในวันนี้ จากแกนนำ 3 คนที่ถูกออกหมายจับไปแล้วและอยู่ระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งนี้เขาได้กล่าวเชิดชูนายพริษฐ์ นักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ในความกล้าหาญ และ "ใช้ชีวิตของเขาเพื่อจะดันเพดานให้พวกเราทุกคน" พร้อมเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมคิดถึงนายคุณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาคนที่สละชีวิตตัวเองเพื่อกระบวนการยุติธรรม
นายกฯ สั่งห้ามเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม
ก่อนการชุมนุมของคณะประชาชนปลดแอกจะเริ่มขึ้นไม่นาน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ฝากขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ดูความสงบเรียบร้อยร้อยในการจัดการชุมนุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่านายกฯ ขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และขอให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ใช้ความอดทนอดกลั้นต่อการยั่วยุ ห้ามใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมเด็ดขาด โดยให้เข้าใจว่าความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติของการเมือง จึงต้องเปิดโอกาสให้เยาวชนคนหนุ่มสาวได้แสดงออกอย่างเต็มที่ แต่ต้องไม่เกินเลยกรอบของกฎหมาย และไม่กระทบต่อสิทธิของผู้อื่น
นอกจากนี้ นายกฯ ยังขอให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความรุนแรง ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนคนไทยไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก
รวมภาพการชุมนุม 16 ส.ค.
August 16, 2020 at 09:49AM
https://ift.tt/3h3ryRk
"ประชาชนปลดแอก" ประกาศจะไม่หยุดเคลื่อนไหวจนกว่า "อำนาจมืด" จะหมดไป - บีบีซีไทย
https://ift.tt/2TVOisZ
Home To Blog
No comments:
Post a Comment