เพียงไม่นานหลังเกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ในกรุงเบรุตของเลบานอน ก็เริ่มมีรายงานข่าวมากมายปรากฏบนโซเชียลมีเดีย
แม้ว่าวิดีโอส่วนใหญ่ที่คนได้เห็นจะเป็นของจริงที่บันทึกไว้ได้โดยคนที่อาศัยอยู่รอบจุดเกิดเหตุ แต่ในเวลาเดียวกันก็มีการแชร์ข่าวลือเกี่ยวกับต้นเหตุของการระเบิดกันอย่างแพร่หลายบนแพลตฟอร์มอย่างทวิตเตอร์และว็อตส์แอพพ์ (WhatsApp)
มาดูกันว่าข้อมูลเท็จเหล่านี้ถูกเผยแพร่ไปได้อย่างไร
พลุและระเบิดนิวเคลียร์
วิดีโอบางชิ้นที่เผยแพร่กันแสดงเหตุการณ์ระเบิดที่มีขนาดเล็กกว่า มีเปลวไฟปะทุขึ้น ก่อนที่จะเกิดการระเบิดขนาดใหญ่ตามมา นี่ทำให้หลายคนทวีตข้อความตั้งข้อสังเกตว่าเหตุเกิดเกิดขึ้นที่โรงงานผลิตพลุ
ในตอนนั้น ข้อสังเกตนี้ดูเหมือนจะมีความเป็นไปได้ แต่ต่อมาทวีตอื่น ๆ ที่แชร์กันอย่างแพร่หลายเริ่มออกไปในแนวว่าน่าจะเป็นระเบิดนิวเคลียร์ หากดูจากกลุ่มควันสีขาวที่มีลักษณะคล้ายดอกเห็ด
ทวีตข้อความหนึ่งซึ่งชี้ว่านี่อาจเป็นระเบิดปรมาณู ตอนนี้ข้อความนี้ถูกลบไปแล้ว แต่ว่าก่อนหน้านั้นผู้ใช้ทวีตเตอร์อีกคนหนึ่งที่มีผู้ติดตามมากว่าหนึ่งแสนคนได้แชร์ข้อความนี้ออกไป ทำให้มีคนไปไลค์และแชร์ข้อความนี้ต่อไปอีกหลายพันครั้ง
ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทโธปกรณ์ต้องรีบออกมาชี้แจงว่าหากเป็นการระเบิดที่เกิดจากอาวุธนิวเคลียร์จริง ลักษณะของระเบิดจะต้องเกิดเป็นแสงวาบสีขาวขึ้นมา และคลื่นความร้อนจะแผ่กระจายเผาผลาญผู้คนอย่างหนักหนาสาหัส
นอกจากนี้ กลุ่มควันที่มีลักษณะเหมือนดอกเห็ดก็ไม่ได้เกิดเฉพาะกับระเบิดนิวเคลียร์อย่างเดียวเท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญบอกว่ามันเกิดจากภาวะการบีบอัดของอากาศชื้น ทำให้น้ำควบแน่นและเกิดเป็นกลุ่มเมฆขึ้นมาได้
ระเบิดหรือการโจมตีขีปนาวุธ
นอกจากนี้ก็ยังมีการกล่าวอ้างที่ไร้หลักฐานอีกว่าเป็นระเบิดนิวเคลียร์จากสหรัฐฯ, อิสราเอล หรือกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ มีการแชร์ข้อมูลเท็จนี้ต่อไปโดยเว็บไซต์ข่าวที่เลือกข้าง และบุคคลสาธารณะ
สถาบันเพื่อการเจรจาเชิงยุทธศาสตร์ (Institute for Strategic Dialogue) ในกรุงลอนดอนระบุว่า ทฤษฎีสมคบคิดที่ริเริ่มโดยกลุ่มขวาจัดมีการแชร์อยู่บนเฟซบุ๊ก เว็บไซต์โฟร์ชาน (4Chan) เรดดิท(Reddit) และแอปพลิเคชันส่งข้อความอย่างเทเลแกรม (Telegram)
ข้อความส่วนใหญ่บอกว่าอิสราเอลโจมตีฐานเก็บยุทโธปกรณ์ของกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ แต่ทั้งทางการเลบานอนและอิสราเอลต่างก็ออกมาปฏิเสธแล้วว่าอิสราเอลไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด
ผู้เผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิดฝ่ายขวาจัดยังเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางเฟซบุ๊กว่านี่เป็นการโจมตีที่เกี่ยวข้องกับ "สงครามระหว่างรัฐบาลกับระบบธนาคารกลาง"
นายกฯ อิสราเอลไม่ได้ชี้จุดเกิดเหตุเมื่อปี 2018
นอกจากนี้บนโซเชียบมีเดียยังมีการโพสต์นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู กำลังกล่าวต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อปี 2018 โดยอ้างว่าเขากำลังชี้ไปยังจุดเกิดเหตุระเบิดในกรุงเบรุต และนี่คือ "เครื่องยืนยัน" ว่าอิสราเอลอยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดครั้งนี้
ข้อเท็จจริงคือว่า รูปนี้เป็นของจริง ไม่ได้มีการตัดต่อ แต่ว่าถูกนำไปใช้อย่างผิดบริบท
จริง ๆ แล้ว นายเนทันยาฮูกำลังชี้ไปยังสถานที่ในอีกบริเวณหนึ่งในกรุงเบรุตที่เขาอ้างว่ากลุ่มเฮซบอลเลาะห์ใช้เป็นที่ซุกซ่อนอาวุธอยู่
ขณะที่เหตุระเบิดซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ส.ค. อยู่เหนือไปจาก "Site 1" หรือ "สถานที่หมายเลข 1" ในแผนที่ของนายเนทันยาฮู ไปหลายกิโลเมตร
คำพูดของทรัมป์
ข่าวลือว่าเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นเป็นการโจมตีจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยิ่งแพร่สะพัดเข้าไปใหญ่หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ใช้คำว่า "การโจมตีที่เลวร้าย" ตอนแถลงข่าวที่ทำเนียบขาว
งานวิจัยโดยสถาบันเพื่อการเจรจาเชิงยุทธศาสตร์ชี้ว่า คำพูดของนายทรัมป์ถูกกลุ่มขวาจัดนำไปตัดต่อและแชร์บนโซเชียลมีเดียให้ดูเหมือนว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ บอกว่าระเบิดเกิดจากการก่อการร้ายหรือเหตุวางระเบิด
โพสต์หนึ่งบนเทเลแกรมระบุว่านายทรัมป์พูดว่า "มันดูเหมือนเป็นการก่อการร้ายที่เลวร้ายมาก" แต่จริง ๆ แล้วนายทรัมป์พูดว่า มันดูเหมือน "การโจมตีที่เลวร้าย"
โคลเอ โคล์ลิเวอร์ จากสถาบันเพื่อการเจรจาเชิงยุทธศาสตร์ บอกว่ายังมีการกล่าวอ้างและทฤษฎีสมคบคิดอื่น ๆ ที่ริเริ่มมาจากคำพูดของนายทรัมป์ และนี่แสดงให้เห็นว่าการสื่อสารและการใช้ภาษาที่ไม่รัดกุมสามารถทำให้เกิดผลเสียได้อย่างไรบ้าง
เราต้องไม่ลืมว่าช่วง "Breaking News" หรือช่วง "ข่าวด่วน" ที่เพิ่งมีรายงานออกมาเป็นช่วงเสี่ยงที่ข้อมูลเท็จหรือการคาดเดาผิด ๆ จะถูกเผยแพร่ง่าย ๆ ดังนั้นเราควรพิจารณาดี ๆ ก่อนที่จะแชร์ข่าวใด ๆ
August 06, 2020 at 02:55AM
https://ift.tt/39ZJHNg
ระเบิดเลบานอน : เกิดทฤษฎีสมคบคิดอะไรแล้วบ้าง - บีบีซีไทย
https://ift.tt/2TVOisZ
Home To Blog
No comments:
Post a Comment