24 ส.ค.63 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดให้บริการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 กรุงเทพ-ชลบุรี-มาบตาพุด ส่วนต่อขยาย ช่วงพัทยา-มาบตาพุด ระยะทางรวม 32 กม. วงเงินลงทุนรวม 17,784 ล้านบาทอย่างเป็นทางการว่า มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 ส่วนต่อขยาย ช่วงพัทยา-มาบตาพุด หลังเปิดให้บริการแล้ว คาดว่าจะมีปริมาณการจราจร 36,000 คันต่อวัน และจะเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ ในระหว่างนี้จะไม่มีการเก็บเงินค่าผ่านทางจนกว่าจะมีการประกาศเก็บค่าผ่านทาง เส้นทางดังกล่าว เนื่องจากกรมทางหลวง (ทล.) อยู่ระหว่างดำเนินการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง พ.ศ.... และอยู่ระหว่างการตรวจร่างฯ ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนสรุปผลนำเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายใน ส.ค. 2563 ก่อนจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ เพื่อเป็นไปตามขั้นตอนออกกฎกระทรวงและประกาศใช้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเก็บค่าผ่านทางในช่วง ต.ค. 2563 แต่ได้มอบหมายให้ ทล. ไปพิจารณาช่วงเวลาที่จะเก็บเงินค่าผ่านทางให้เหมาะสม ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชน สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมผ่านทางตลอดเส้นทางเก็บตามประเภทรถ แบ่งเป็น รถยนต์ 4 ล้อ 25-130 บาท, รถยนต์ 6 ล้อ 45-210 บาท และรถยนต์มากกว่า 6 ล้อขึ้นไป 60-305 บาท
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ในส่วนของจุดพักรถของมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 นั้น ได้สั่งการให้ ทล.ไปศึกษารูปแบบจากประเทศเกาหลีใต้ หลังจากไปศึกษาดูงานเมื่อช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา โดยเป็นรูปแบบการคร่อมมอเตอร์เวย์ โดยพื้นที่ด้านล่างทั้ง 2 ฝั่ง จะเป็นพื้นที่จอดรถ เพื่อรองรับปริมาณผู้ใช้บริการได้อย่างเพียงพอ ประกอบกับยังสามารถช่วยประหยัดงบประมาณ เอกชนที่จะเข้ามาดำเนินการ เพื่อลงทุนศูนย์จำหน่ายสินค้าเพียงจุดเดียว ที่สามารถใช้บริการได้ทั้งขาเข้าและขาออก ขณะที่สัญญาสัมปทานนั้น จะเริ่มนับรวมการศึกษา และการก่อสร้างตั้งแต่ต้น
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ ทล. จะดำเนินการส่วนต่อขยายช่วงพัทยา–มาบตาพุด ให้ไปถึงสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 3.5 กม. เชื่อมต่อโดยตรงกับอาคารผู้โดยสาร เพื่อรองรับผู้โดยสารที่จะใช้บริการได้เพิ่มเป็น 60 ล้านคนต่อปีในอนาคต รวมทั้งเติมเต็มโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) และเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอนาคตด้วย โดย ทล. จะใช้งบประมาณเพื่อนำมาศึกษาจากกองทุนมอเตอร์เวย์ประมาณ 40 ล้านบาท
ทั้งนี้ เส้นทางดังกล่าว ในเบื้องต้นมีระยะทางประมาณ 3.5 กม. วงเงินลงทุนโครงการ 4,200 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 3,940 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 260 ล้านบาท โดยพื้นที่บางส่วนเป็นของทหาร ซึ่งจะต้องไปดำเนินการขอใช้พื้นที่ และอีกส่วนจะเป็นพื้นที่โล่ง ทำการเกษตรซึ่งจะต้องมีการเวนคืน ในเขตทางเพิ่ม 40 เมตร อย่างไรก็ตาม คาดว่า ภายสิ้นปีนี้จะได้ข้อสรุปจำนวนพื้นที่ที่มีการเวนคืนทั้งหมด
สำหรับแนวเส้นทางเริ่มจาก มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 บริเวณด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอู่ตะเภา มุ่งหน้าทิศใต้ข้ามทางรถไฟสายตะวันออก ซึ่งขนานกับแนวรถไฟความเร็วสูง และตัดกับทางหลวงหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) เพื่อเชื่อมต่อเข้าสู่อาคารผู้โดยสารใหม่ขอบสนามบินอู่ตะเภา ในส่วนรูปแบบการก่อสร้าง เป็นมอเตอร์เวย์ขนาด 4 ช่องจราจร ขาไป 2 ช่อง ขากลับ 2 ช่อง นอกจากนี้ จะมีการก่อสร้างทางแยกต่างระดับ 1 แห่ง บริเวณจุดตัด ทล.3 เพื่อเชื่อมต่อเข้าสู่สนามบินอู่ตะเภา
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของผลการศึกษา คาดว่าจะแล้วเสร็จสิ้นปี 63 จากนั้นในปี 64 จะสำรวจออกแบบรายละเอียด พร้อมศึกษาผลกระทบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และในปี 65 จะดำเนินการเวนคืนที่ดิน และก่อสร้างมอเตอร์เวย์ดังกล่าวเชื่อมต่ออาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ของสนามบิน พร้อมทางแยกต่างระดับจุดเชื่อมต่อถนนสุขุมวิท โดยอาจจะใช้งบประมาณก่อสร้างจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากนั้นจะแล้วเสร็จในปี 67 และเปิดให้บริการในปี 68 เพื่อให้เป็นไปตามแผนเปิดสนามบินอู่ตะเภาด้วย
ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดี ทล. กล่าวว่า โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเส้นทางแรก ที่เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2537 มีขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทาง 125 กิโลเมตร รองรับการคมนาคมขนส่งระหว่างกรุงเทพมหานครและภาคตะวันออกของประเทศไทย ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคตะวันออก และเชื่อมโยงการเดินทางและขนส่งสินค้าไปยังภูมิภาคต่างๆ สามารถเดินทางเข้าถึงแหล่งนิคมอุตสาหกรรม อาทิเช่น นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ เป็นต้น ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปยังภูมิภาคทั่วประเทศ
สำหรับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายช่วงพัทยา–มาบตาพุดนั้น เป็นเส้นทางคมนาคมใหม่ที่จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางเชื่อมต่อเข้าสู่พื้นที่ของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC อีกทั้งยังเป็นโครงการที่เชื่อมต่อโครงข่ายการคมนาคมขนส่งในทุกระบบ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางรางมีลักษณะเป็นทางหลวงพิเศษที่มีการควบคุมการเข้า-ออกอย่างสมบูรณ์
ทั้งนี้ เส้นทางดังกล่าว มีขนาด 4-6 ช่องจราจรระยะทาง 32 กิโลเมตร เชื่อมต่อทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ช่วงชลบุรี-พัทยา บริเวณทางแยกต่างระดับมาบประชัน มีด่านเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทาง 3 แห่ง ได้แก่ ด่านฯ ห้วยใหญ่ เชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 3 ถนนสุขุมวิท บริเวณบ้านอำเภอ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี, ด่านฯ เขาชีโอน เชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 331 อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และด่านฯอู่ตะเภา เชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 3 ถนนสุขุมวิท บริเวณอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง
นอกจากนี้ มีระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง ทั้งระบบเงินสด และระบบอัตโนมัติ พร้อมทั้งมีระบบควบคุมการจราจรและระบบอำนวยความปลอดภัยต่างๆ ให้บริการผู้ใช้เส้นทางให้เดินทางด้วยความสะดวกสบาย ประหยัด และปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง และในอนาคตรองรับการใช้งานระบบ กล้องสแกนทะเบียนรถ ขึ้นก่อน-จ่ายทีหลัง หรือ M-FLOW เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บเงิน อีกด้วย
นายสราวุธ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการสร้างมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายถึงสนามบินอู่ตะเภานั้น ก่อนหน้านี้มีระยะทาง 7 กม. เนื่องจากคำนวนตามแนวเส้นทางราบ แต่เมื่อศึกษาแล้วพบว่า หากใช้รูปแบบดำเนินการที่ ทล. ศึกษา โดยเป็นทางยกระดับ จะมีระยะทางสั้นลงเหลือ 3.5 กม. และสะดวกมากขึ้น
August 24, 2020 at 05:05AM
https://ift.tt/32ii0Mc
เปิดแล้วมอเตอร์เวย์หมายเลข7ส่วนต่อขยาย'พัทยา-มาบตาพุด'ช่วงแรกวิ่งฟรี - ไทยโพสต์
https://ift.tt/2TVOisZ
Home To Blog
No comments:
Post a Comment