"วิ่งนะวิ่งนะแฮมทาโร่...ของอร่อยที่สุดก็คือ ภาษีประชาชน"กลายเป็นวลีติดหูของหลาย ๆ คน ที่ไปร่วม "วิ่งกันนะแฮมทาโร่" ที่ "วนรถโรงเรียนสตรีวิทยา" หรือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
จำนวนผู้ร่วมชุมนุมส่วนใหญ่ ไม่ใช่คนคุ้นหน้า อายุมากเกิน 30 แต่เป็น เยาวชนคนหนุ่มสาว นับร้อยที่ดูอายุราวนักเรียนมัธยมปลายหรือนักศึกษามหาวิทยาลัย และเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
เจ้าของแนวคิดการวิ่งครั้งนี้ และนำเพลงจากการ์ตูนญี่ปุ่นมาดัดแปลงเนื้อหาบางช่วง เช่น ก็คือ "จูดี้" วัยรุ่นหญิงผู้เปิดเผยตัวเพียงชื่อเล่น ใส่หน้ากากผ้าเวลารณรงค์ และไม่อยากให้รูปของเธอเป็นที่ปรากฏในวงกว้าง
"ทีแรกหนูคิดว่าเราจะวิ่งกันแค่รอบเดียว แต่พอจะจบรอบแรกเครื่องเสียงที่มีปัญหากลับใช้งานได้พร้อมกับมีคนตะโกนบอกว่า วิ่งต่อรอบที่สอง" จูดี้ กล่าวกับบีบีซีไทยในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์พร้อมเสริมว่า ประหลาดใจที่มีผู้มาร่วมงานมากกว่าทีคาดไว้มาก
"เดิมที่คาดว่าจะมีผู้มาร่วมวิ่งกับทางแกนนำอย่างมากแค่ 100 คน แต่ผลปรากฏว่าในวันนั้นมากกว่า 1,000 คน"
จูดี้บอกว่า ผู้ที่เข้าร่วมส่วนใหญ่กลับเป็นนักเรียน-นักศึกษา ราว 60% เป็นหญิง ซึ่งยังหาคำตอบไม่ได้ว่าทำไมกิจกรรมที่เธอและทีมงานนวชีวิน จัดในวันนั้นถึงได้ดึงดูดกลุ่มผู้หญิงได้มากขนาดนั้น อาจจะเป็นความน่ารักของการ์ตูนตัวหลักที่ใช้เป็นธีมของงานอย่าง "แฮมทาโร่" หรือไม่ก็อาจจะเป็นจำนวนผู้ติดตามและใช้สื่อโซเชียลส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
ทำไมต้องเป็น "แฮมทาโร่"
จูดี้ เล่าถึงที่มาของความคิดการใช้การ์ตูนเป็นตัวชูโรงในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ว่า การ์ตูนแฮมทาโร่ของญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตอนสมัยมัธยม เธอเรียนภาษาญี่ปุ่น ชอบเพลงรีมิกซ์ของแฮมทาโร่ และคิดว่าเพื่อน ๆ ทุกคนก็จะชอบเหมือนกัน
"แฮมทาโร่ ก็คือวัฒนธรรมประชานิยม หรือ ป๊อปคัลเจอร์ จากประเทศญี่ปุ่น สามารถเข้าถึงคนจำนวนมาก อยู่แล้ว เมื่อคุยกันกับทีมงานเลยได้ความคิดว่าให้ร้องเพลงแฮมทาโร่มาเป็นสื่อในการส่งสารที่ต้องการ อะไรที่เคยแมส (เข้าถึงคนจำนวนมาก) ในญี่ปุ่น มันต้องแมสได้อีก" เธอกล่าว
จูดี้บอกว่า ข้อดีของคอนเทนต์นี้คือ การเป็นกระแสในโลกออนไลน์จะทำให้คนพูดถึงไม่เพียงในไทยเท่านั้น แต่ยังหมายถึงในต่างประเทศด้วย
"หากเกิดอะไรขึ้นกับพวกเรา สิ่งนี่จะกลายเป็นโล่ป้องกันจากการคุกคามได้"
จูดี้ บอกว่า การเลือกแฮมทาโร่เป็นสัญลักษณ์แทนผู้เรียกร้อง ที่ไม่แตกต่างจากหนูตัวหนึ่งที่อยู่ในกรง และ "กรงนั้นกำลังจะพัง" การออกมาวิ่ง คือ การ "เรียกร้องการเปลี่ยนแปลง"
"หลายคนบอกว่าการที่เราจัดกิจกรรมทำให้เกิดความเดือนร้อน แต่เราไม่เห็นว่าความเดือดร้อนเป็นเรื่องล้อเล่น เรามีเป้าหมายชัดเจน อันนี้เป็นรูปแบบหนึ่ง เราก็เรียกร้องแบบนี้ได้เหมือนกัน" เธอกล่าว
จาก ไล่ยิ่งลักษณ์ สู่ ไล่ประยุทธ์
นักกิจกรรมในวัย 19 ปีรายนี้ยอมรับว่า ครอบครัวมีความคิดทางการเมืองแตกต่างจากเธออย่างสิ้นเชิง จึงเป็นเหตุผลที่เธอไม่ขอเปิดเผยตัวต่อสาธารณะ
เธอเล่าย้อนหลังไปในช่วงที่เธออายุราว 12-13 ปี เธอเคยไปร่วมการชุมนุมประท้วงกับครอบครัวกับกลุ่มผู้ชุมนุมของ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ก่อนเกิดการปฏิวัติรัฐประหารในปี 2557
เมื่อเวลาผ่านไปเธอเล่าว่า ชุดความคิดที่ได้ยินกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับไม่ตรงกันทำให้เธอเกิดคำถามและต้องการหาคำตอบและศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์การเมืองเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะหนังสือเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และทำให้เธอเข้าศึกษาต่อคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
"การเมืองเป็นอำนาจทับซ้อน การเมืองเป็นกติกา ดังนั้น การเมืองก็เป็นเรื่องของทุกคน เพราะทุกคนก็อยู่ใต้กติกาเหมือนกัน" นักศึกษาธรรมศาสตร์ชั้นปีที่ 2 ระบุ
สีสัน+ความคิดสร้างสรรค์ นำสู่การเปลี่ยนแปลง
"วิ่งกันนะแฮมทาโร่" เมื่อวันอาทิตย์ และ "ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล" ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เมื่อวันเสาร์ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คือ การชุมนุมที่ดูสนุกสนาน เต็มไปด้วยสีสัน ประท้วงการเมืองด้วยวิธีที่แตกต่างจากการประท้วงแบบเดิม ๆ
นักวิเคราะห์การเมืองมองว่า ชี้ สีสันของการชุมนุมโดยเยาวชนจะยิ่งทวีความสร้างสรรค์ขึ้นอีกเพื่อขยายกระแสการเคลื่อนไหว ที่จะนำพาสารข้อเรียกร้องไปสู่คนหมู่มากเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง
ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า บอกกับบีบีซีไทยว่า การชุมนุมแบบแฟลชม็อบตั้งแต่ช่วงต้นปีถือเป็นการจุดติดในการเคลื่อนไหวทางการเมือง แม้ว่าระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เข้ามาทำให้กระบวนการดังกล่าวยุติลงชั่วคราว แต่การกลับมาจัดการชุมนุมอีกครั้งในช่วงปลายเดือน มิ.ย.โดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า เยาวชนปลดแอก ก็ถือเป็นการตอกย้ำว่า ความคิดเห็นทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมืองในหมู่เยาวชนยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง
นักวิชาการรายนี้วิเคราะห์ถึงการชุมนุมทางการเมืองของบรรดากลุ่มนักเรียนนักศึกษาระยะสั้นว่า แบ่งเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรกหรือระยะต้น จะเต็มไปด้วยสีสันและความหลากหลายในการนำเสนอเพื่อทำให้เกิดกระแส แต่ไม่จำเป็นจะต้องมีผู้คนจำนวนมาก หรือยึดติดกับรูปแบบเดิม ๆ อย่างการจัดการชุมนุมในอดีต
"ผมคิดว่า ต่อจากนี้ไปเราจะเห็นแต่ละกลุ่มชุมนุมจะเดินหน้าประชันทางความคิดมากยิ่งขึ้น แต่จะผูกกับสถาบันการศึกษาหรือไม่ก็ขึ้นอยู่ประเด็นที่ต้องการเรียกร้อง"
ดร.สติธร กล่าวอีกว่า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจะกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของกลุ่มเยาวชนที่จะเข้ามารวมตัวกันจัดกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ และกลายเป็นศูนย์กลางกิจกรรมสำหรับนักเคลื่อนไหวในต่างจังหวัดอีกด้วย
สำหรับระยะถัดมาจะเกิดขึ้นหลังจากปฏิกิริยาจากฝั่งของรัฐบาลว่าจะยอมรับฟังเพื่อการเปลี่ยนแปลงหรือว่าเมื่อเกิดการเผชิญหน้ากันกับคู่ตรงข้ามที่สนับสนุนรัฐบาล ซึ่งเริ่มสังเกตเห็นประปรายตามสื่อโซเชียล ซึ่งหากว่าเกิดการคุกคามกลุ่มนักเรียนนักศึกษาด้วยท่าทีที่ไม่เป็นมิตร ก็อาจจะมีกลุ่มผู้สนับสนุนที่ยังไม่แสดงตัว ออกมาเป็นแนวร่วมเพิ่มขึ้น
คนรุ่นใหม่ทวงคืนอนาคตในแบบฉบับของเขา ผู้ใหญ่ควรทำความเข้าใจ
ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกกับบีบีซีไทยว่า อาจจะเร็วไปที่จะสรุปลักษณะการเคลื่อนไหว แต่ข้อเรียกร้องของคนหนุ่มสาวในครั้งนี้ ค่อนข้างชัด มีนัยสำคัญและมีน้ำหนัก รูปแบบการจัดกิจกรรมทั้งหมด นับตั้งแต่กิจกรรมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก มาถึง "ชมสวนใหม่ยาม 2 ทุ่ม" โดย"มศว.คนรุ่นเปลี่ยน" และล่าสุด "วิ่งกันนะแฮมทาโร่" เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เป็นความพยายามในการตอบโจทย์คนในรุ่นพวกเขา
"ยิ่งผู้ใหญ่ไม่เข้าใจพวกเขา ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีปัญหาปัญหาระหว่างรุ่นและวัย หลายปีที่ผ่านมา พวกเขาต้องเผชิญกับเพดานทางวัฒนธรรมและกฎหมาย การแสดงออกอย่างที่เราเห็นถือเป็นยุทธวิธีหนึ่งในการทวงคืนอนาคตของพวกเขาอีกทาง" ผศ.ดร.บัณฑิตกล่าว
หากถามถึงว่าสาเหตุสำคัญที่ทำไมกลุ่มคนรุ่นใหม่ถึงออกมาชุมนุมแสดงความคิดเห็น อาจจะต้องพิจารณาถึงประสบการณ์ที่เขาได้รับมาตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองผ่านการทำรัฐประหารมาถึง 2 ครั้งในช่วงอายุของพวกเขาไม่สามารถมอบอนาคตที่ดีให้กับพวกเขาได้
"เมื่อความคาดหวังต่ออนาคตได้สูญสิ้นไปแล้ว การสร้างบทสนทนาคือสิ่งที่หนีไม่พ้น สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้คือการเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ในสังคมต้องฟังพวกเขา" นักวิชาการรายนี้ระบุ
การแก้ไข รธน. ต้องใช้เวลา
ดร.สติธร กล่าวว่า สิ่งที่จะต้องจับตาต่อไปคือ รัฐบาลจะสนองตอบต่อข้อเรียกร้องอย่างไร สำหรับเขาเองมองกว่า ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะต้องใช้เวลา เนื่องจากกระบวนการทางกฎหมายมีขั้นตอนยุ่งยากและซับซ้อนอาจจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี
"หากว่ามีการเริ่มขั้นตอนนี้จริง กรอบเวลาที่เป็นไปได้เร็วสุดอาจจะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งสมัยหน้า ในขณะที่ความนิยมต่อรัฐบาลชุดปัจจุบันยังคงลดลงในบรรดากลุ่มคนรุ่นใหม่"
นอกจากนี้ ประเด็นที่น่ากังวลในการจัดการชุมนุมคือ การนำประเด็นที่พาดพิงสถาบัน ที่อาจจะนำไปสู่การปะทะกันทางความคิดระหว่างผู้เห็นต่างโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีแนวความคิดอนุรักษ์นิยม
July 27, 2020 at 06:32AM
https://ift.tt/3jFnGrH
วิ่งกันนะแฮมทาโร่: เมื่อการ์ตูน-เพลงกลายเป็นตัวเชื่อมโยงเยาวชนกับการเมือง - บีบีซีไทย
https://ift.tt/2TVOisZ
Home To Blog
No comments:
Post a Comment