โดย วารุณี ปรีดานนท์
หุ้นส่วนสายงานบริหารความเสี่ยงและตรวจสอบภายใน บริษัท PwC ประเทศไทย
การดำเนินธุรกิจไม่อาจหลีกเลี่ยงต่อเหตุการณ์หลากหลายที่มีทั้งดีและไม่ดี เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตและอาจมีผลไม่ดีต่อองค์กร เช่น รายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย สูญเสียลูกค้ารายสำคัญ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น หรือแม้กระทั่ง วัตถุดิบขาดแคลน เหตุการณ์เหล่านี้ถือเป็น ‘ความเสี่ยง’ ที่ทุกองค์กรต่างต้องป้องกันไม่ไห้เกิดขึ้น หรือพยายามลดผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากเรากำลังพูดถึงเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น ทำให้ผู้บริหารหลายคนไม่อาจหยั่งรู้เรื่องในอนาคตได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องในเชิงลบ เราจึงเห็นหลายองค์กรที่ต้องเปลี่ยนสภาพ หรือหายไปจากวงการธุรกิจ เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตร้ายแรง
ในอดีตที่ผ่านมา ผู้บริหารอาจได้รับคำถามให้ฉุกคิดว่า ถ้ามีเหตุการณ์ใดที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น และกระทบต่อองค์กรอย่างรุนแรงมาก ๆ องค์กรควรทำอย่างไร ถ้าธุรกิจต้องหยุดชะงัก จะทนได้แค่ไหน องค์กรหลายแห่งที่ยังไม่ได้เตรียมพร้อมกับเหตุการณ์เหล่านี้ หรือไม่ได้ให้ความสนใจอย่างเพียงพอต่อเรื่องนี้ เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ทัน นอกจากพยายามลดต้นทุนด้วยการปลดพนักงาน หรือยอมรับสภาพการหดหายของรายได้อย่างรุนแรง
แม้จะไม่มีใครบอกได้ว่า เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ และจะเป็นรูปแบบใด แต่สิ่งที่ผู้บริหารทุกคนต้องการคือ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น องค์กรจะต้องอยู่รอดและยั่งยืน เพราะนั่นหมายถึง การดำรงอยู่ของพนักงาน ประชาชน เศรษฐกิจ และประเทศชาติ
ที่ผ่านมา PwC ได้เผยแพร่บทความ Risk in Review เพื่อแนะนำให้องค์กรรู้จักการบริหารความเสี่ยงที่ดี ซึ่งต้องมีทั้ง Risk agility และ Risk resiliency เมื่อมีเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจทำให้องค์กรเสียหายมาก
Risk agility นั้นหมายถึง ความสามารถขององค์กรในการปรับตัวได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงและกระทบต่อธุรกิจโดยไม่ได้คาดคิด เช่น มีคู่แข่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือ ลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรมในการซื้อสินค้าไปจากเดิมอย่างมาก
ส่วน Risk resiliency หมายถึง ความสามารถขององค์กรในการยืนหยัดเผชิญกับเหตุการณ์ที่มากระทบกับธุรกิจ องค์กรที่มี Risk resiliency ที่ดี เป็นองค์กรที่ต้องมีความแข็งแรง ทั้งผู้บริหารเก่ง กระบวนการปฏิบัติงานดี การควบคุมภายในดี การบริหาร ความเสี่ยงดี วัฒนธรรมการทำงานดี และมีชื่อเสียงขององค์กรที่ดีด้วย
ขอยกตัวอย่าง ทีมฟุตบอลที่จะสามารถคว้าแชมป์ฤดูกาลสำคัญ ๆ ไปได้ ต้องมีการปรับเทคนิคการเล่นของทีมทุกครั้ง เพื่อดูว่า คู่แข่งของตนเป็นใคร และมีวิธีการเล่นอย่างไร โดยเรียกว่า มี Risk agility คือพร้อมต่อการปรับตัวและปรับวิธีเล่นตลอดเวลา นอกจากนั้น นักฟุตบอลทุกคนในทีม ก็มีความสามารถสูงในการเล่นได้ทุกตำแหน่ง ทำให้ทีมมีโอกาสชนะคู่แข่งได้มากขึ้น ไม่ว่าทีมคู่แข่งจะเก่งเพียงใด แบบนี้เรียกว่ามี Risk resiliency ดี
เมื่อพิจารณาลักษณะขององค์กรตามแบบการบริหารความเสี่ยง สามารถจัดแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่มีผลการดำเนินงานสูง (High Performers) เป็นกลุ่มที่สามารถปรับและเปลี่ยนการบริหารความเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีความสามารถในการทำรายได้และกำไรสูง แม้อยู่ท่ามกลางภาวะที่มีความเสี่ยง
เช่น ธุรกิจขายอาหาร หรือขายสินค้าออนไลน์ที่สามารถใช้วิกฤตเป็นโอกาสในการสร้างรายได้และกำไรให้เพิ่มขึ้นหลายร้อยเท่า ในช่วงที่วิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ทำให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน
กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่มีผลการดำเนินงานคงที่ (Steady Performers) เป็นกลุ่มที่การปฏิบัติงานมีความแข็งแกร่ง แต่ปรับตัวเข้ากับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ค่อนข้างช้า จึงมีผลการดำเนินงานแบบไปได้เรื่อย ๆ เช่น กิจการร้านอาหารที่มีฝีมือดีมาก และขายต่อเนื่องมาหลายปีจนมีฐานะการเงินมั่นคง แต่เจ้าของร้านไม่ชอบปรับตัว ไม่เปิดสาขาใหม่เหมือนร้านอื่น ๆ จึงมีผลประกอบการคงที่ และในที่สุดคู่แข่งรายอื่นก็อาจจะโตแซงหน้า หรือแย่งลูกค้าไปได้
กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่ปรับตัวได้ช้ากว่า (Slower Performers) เป็นกลุ่มที่การปฏิบัติงานไม่ค่อยแข็งแกร่งและมีความสามารถในการปรับตัวน้อย จึงมีผลการดำเนินงานที่เติบโตช้ามาก เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจการบินที่มีฐานะการเงินไม่ดีอยู่เดิม เมื่อเจอสถานการณ์ที่ทำให้ต้องหยุดชะงัก จึงส่งผลต่อกิจการอย่างรุนแรงจนหลายแห่งต้องปลดพนักงาน หรือประกาศล้มละลาย
กลุ่มที่ 4 กลุ่มที่ปรับตัวได้รวดเร็วกว่า (Faster Performers) เป็นกลุ่มที่การปฏิบัติงานไม่ค่อยแข็งแกร่งนัก แต่มีความสามารถในการปรับตัวสูง จึงทำให้บริษัทในกลุ่มนี้อยู่รอดได้ในภาวะวิกฤต แต่อาจไม่มีกลยุทธ์ระยะยาวในการดำเนินธุรกิจ เช่น กิจการขนาดย่อมที่ทำธุรกิจร้านอาหาร สามารถปรับตัวได้เร็ว เมื่อทางการสั่งปิดร้านอาหาร ก็สามารถเปลี่ยนมาทำอาหารส่งตามบ้านได้ แต่ด้วยฐานะการเงินที่จำกัด จึงทำได้เป็นครั้งคราว และไม่อาจวางแผนระยะยาวได้ว่า ควรทำอย่างไรต่อไป
บทบาทสำคัญของคณะกรรมการบริษัทในการทำองค์กรให้ยั่งยืน
ความสำเร็จในการบริหารความเสี่ยงที่มีทั้ง Agility และ Resiliency นั้น วัดได้จากการที่องค์กรสามารถสร้างการเติบโตและผลตอบแทนได้อย่างเป็นที่พอใจ รวมถึงสามารถผ่านเหตุการณ์ทั้งหลายที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจไปได้อย่างราบรื่น รวมถึงช่วยสร้างและรักษาคุณค่าขององค์กรได้ในระยะยาว การบริหารความเสี่ยงในลักษณะนี้ ต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยเริ่มจากคณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร ตลอดจนพนักงานทุกคน
ดังนั้น สิ่งที่คณะกรรมการบริษัทควรปฏิบัติมีดังต่อไปนี้
แสดงความชัดเจนในการกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยง ผ่านการกำหนดนโยบาย สื่อสาร และติดตามการปฏิบัติของผู้บริหารว่า ได้พัฒนาระบบบริหารความเสี่ยงอย่างไร มีแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมหรือไม่
หารือกับผู้บริหารในการกำหนดระดับความเสี่ยงที่องค์กรยอมรับได้ (Risk appetite) ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจ
พูดคุยกับผู้บริหารอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริหารได้มีการประเมินความเสี่ยงและจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ
เน้นย้ำให้ผู้บริหารเข้าใจว่า การบริหารความเสี่ยงจะนำไปสู่การช่วยเพิ่มผลการดำเนินงานขององค์กรในที่สุด และไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการบ่งชี้ความเสี่ยงเท่านั้น
เข้าใจและเข้าถึงการบริหารงานว่า จะสร้างและรักษาคุณค่าขององค์กรอย่างไร หากในอนาคตมีเหตุการณ์ที่ทำให้องค์กรเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง หรือธุรกิจต้องหยุดชะงัก เช่น วิกฤติโรคระบาดที่เกิดอยู่ในขณะนี้ โดยบทบาทในข้อนี้ต้องครอบคลุมการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร และไม่ได้เป็นเพียงแค่การเข้าใจเฉพาะระบบบริหารแผนฉุกเฉิน (Business Continuity Management) เท่านั้น
นับจากนี้ เหตุการณ์การแพร่ระบาดที่ยังคงมีอยู่จะคลี่คลาย หรือมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด ถือเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก ดังนั้น คณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารต้องมีความจริงจังต่อการเตรียมรับมือกับโอกาสและความเสี่ยงที่จะถาโถมเข้ามาในธุรกิจ อย่าลืมว่า การบริหารความเสี่ยง เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ช่วยรักษาองค์กรให้ยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางวิกฤต จึงขอให้ทุกองค์กรอย่าละเลยการบริหารจัดการในเรื่องนี้ รวมถึงทบทวนกระบวนการบริหารความเสี่ยงโดยเร็ว และแก้ไขให้มีความเหมาะสมเพื่อความมั่นคงของธุรกิจต่อไป
No comments:
Post a Comment